วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Queen of the under world






ตำนานเฮดีส และ เพอร์ซิโฟเน เป็นเรื่องราวความรักของเทพผู้ปกครองนรก และ เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ...ใครจะคิดว่าเทพผู้ปกครองยมโลกจะไม่รู้จักความรัก ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นซักหน่อย ขนาดเทพแห่งความรักหรือเรารู้จักกันในนามกามเทพยังมีความรักกับไซคีซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาได้เลย แต่ก่อนอื่นก็ต้องขอพูดถึงพระเอกของเรื่องก่อนละกันว่าเทพเฮดีสเป็นใคร มีที่มายังไง ก่อนที่จะพูดถึงความรักของทั้ง 2 ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง


เฮดีส (หรือ เฮเดส หรือ อีกชื่อนึงคือ ฮาเดส ในเซนต์เซย่า) ชาวโรมันเรียกว่า พลูโต (Pluto) เทพเจ้าผู้ปกครองนรกและโลกหลังความตาย ในตำนานถือว่ามีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของ ซูส ราชาแห่งเหล่าเทพ และยังถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์เพราะเทพเฮดีสมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างภายใต้พื้นพิภพ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดีส (Dis) ซึ่งแปลตรงตัวว่า ทรัพย์สิน เฮดีส แท้ที่จริงแล้วเป็นเทพที่มีความยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งเช่นเดียวกับซูส หรือ โพไซดอน เนื่องจากเป็นพี่น้องกัน แต่ทว่าความที่เฮดีสเป็นผู้ปกครองนรกซึ่งเป็นโลกใต้ดินซึ่งมีแต่ความมืดมิดและน่ากลัว จึงไม่ใคร่ขึ้นไปยังเขาโอลิมปัส  อีกทั้งเทพองค์อื่น ๆ ก็ไม่ใคร่ที่จะต้อนรับเฮดีสด้วย ดังนั้น เฮดีสจึงไม่มีชื่อเป็นหนึ่งในเทพโอลิมปัสเฉกเช่นเทพองค์อื่น ๆ

   เฮดีส ได้ชื่อว่าเป็นเทพที่มีความเที่ยงธรรมอย่างมาก ตัดสินความดีชอบของคนตายโดยปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวกันว่า พระองค์มีหมวกวิเศษอยู่ใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้ ซึ่งในครั้งที่ทำสงครามกับเหล่าไททันส์นั้น เฮดีสใช้หมวกนี้ลอบเข้าไปทำลายอาวุธของไททันส์ก่อนการต่อสู้ และพระองค์มีเทพผู้ช่วยในการตัดสินความดีชั่วในยมโลกอีก 3 องค์คือ ราดาแมนทีส, ไมนอส, ไออาคอส (คุ้นๆชื่อเหมือนกับชื่อตัวละครในเซนต์เซย่าเลย) และยังมีฮิปนอส เทพแห่งการหลับไหล และ ทานาทอส เทพแห่งความตายคอยช่วยอีก ชาวกรีกโบราณจะถวายการสักการะแด่เฮดีสด้วยแกะดำ และเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบมาที่ได้ค่อนข้างยาก แต่ก็สืบทอดกันมาว่า หากจะบูชาเทพแห่งความตายหรือเทพอันใดที่เป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวหรือชั่วร้าย ต้องบูชายัญด้วยแพะหรือแกะดำ
   เพอร์ซิโฟเน (Persephone) เป็นธิดาของดิมีเทอร์เทวีแห่งธัญพืชและการเกษตรกับเทพซูส พระนางมีทั้งรูปโฉมที่สวยสะคราญและน้ำเสียงอันไพเราะที่สามารถปลุกชีวิตชีวาให้แก่ธรรมชาติ เหล่าสัตว์ป่ามักจะชอบเข้ามาคลอเคลียกับพระนาง ไม่ว่าเยื้องกรายไปทางไหน พืชพันธุ์ที่เคยเหี่ยวแห้งก็จะฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ เทพีดิมีเทอร์จึงรักพระธิดาองค์เดียวอย่างสุดสวาทขาดใจ ในยามเยาว์เพอร์ซิโฟเนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะประพฤติตนเป็นเทพพรหมจารย์เช่นเดียวกับ เฮสเทีย ผู้เป็นป้า และอธีนากับอาร์เทอมีสผู้เป็นพี่สาว แต่ความตั้งใจนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่เทพีอโฟรไดต์ ผู้เป็นเทวีแห่งความรักเป็นอย่างมาก เพราะการมีเทพที่ประพฤติตนเป็นพรหมจารีย์มากถึง 3 องค์นั้นมากเกินพออยู่แล้วสำหรับนาง ประกอบกับในขณะนั้นเฮดีสเทพแห่งโลกใต้พิภพเองก็ไร้คู่ เนื่องจากไม่มีเทวีองค์ใดต้องการที่จะลงไปใช้ชีวิตอยู่ใต้พิภพที่มืดมิดและเงียบเหงา อะโฟรไดต์จึงส่งอีรอส หรือ กามเทพ ไปหาโอกาสทำให้เทพเฮดีสและเทวีเพอร์ซิโฟเนหลงรักกันให้ได้
จนกระทั่งวันหนึ่งเทพ เฮดีสแห่งยมโลกได้ขึ้นมายังพื้นโลก อีรอสจึงยิงลูกศรกามเทพปักอกเทพแห่งยมโลกอย่างจัง และคนแรกที่เทพเฮดีสได้พบก็คือ เทวีคนงาม เพอร์ซิโฟเน  นั่นเอง ทำให้เทพเฮดีสหลงรักเทพีผู้เป็นหลานสาวอย่างสุดหัวใจ ทันใดนั้นเองเทพเฮดีสก็ได้ตัดสินใจคว้าร่างเทพีเพอร์ซิโฟเน่ขึ้นมาบนรถม้า และตรงดิ่งลงไปยังใต้พิภพและแต่งตั้งนางให้เป็นราชินีแห่งโลกใต้พิภพ

                               ภาพเฮดีสขณะลักพาตัวเพอร์ซิโฟเน

   เทพีดิมีเทอร์เศร้าโศกเสียใจอย่างหนักที่ธิดาสุดที่รักหายตัวไปจนกระทั่งพืชผลเหี่ยวแห้งทั่วโลก ชาวมนุษย์เดือดร้อนอดตายเป็นจำนวนมาก เทพซูสจึงเรียกตัวพี่ชาย เทพเฮดีส ขึ้นมา เพื่อขอเทพีเพอร์ซิโฟเนคืน แต่ทว่าในระหว่างที่อยู่ในยมโลก เทพีเพอร์ซิโฟเนได้เสวยอาหารทิพย์เม็ดเล็กๆ หรือในบางตำนานว่าเมล็ดของผลทับทิมของยมโลกไป 3 เมล็ด ซึ่งผู้ใดได้รับประทานอาหารชนิดนี้ไปแล้วจะต้องผูกพันอยู่กับโลกใต้พิภพและจะจากไปไม่ได้ เทพซูสจึงทำข้อสัญญาตกลงกันว่า จะให้เทพีเพอร์ซิโฟเนอยู่บนโลกตามใจชอบเป็นเวลา 9 เดือน จากนั้นก็ให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ยมโลกเป็นเวลาอีก 3 เดือน ซึ่งในระหว่างที่ธิดาไม่อยู่ เทพีดิมีเทอร์ก็จะเศร้าโศก พืชผลก็จะปลูกไม่ขึ้น แห้งแล้ง แต่เมื่อองค์ธิดากลับมาสู่อ้อมอก พืชผลก็จะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฤดูกาลนั่นเอง เทพีเพอร์ซิโฟเน ยังเป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิด้วย ในตำนานมักระบุว่าเพอร์ซิโฟเนเป็นราชินีแห่งยมโลกผู้เย็นชาไม่ต่างจากพระสวามี มีเพียงคราวที่ออร์ฟิอุสเดินทางมายังยมโลกและเล่นดนตรีเล่าถึงความโศกเศร้าที่ต้องจากคนรักคือนางยูริดิซีเท่านั้น ที่ทั้งนางและเฮดีสถึงกับกรรแสง

              ออร์ฟิอุสเดินทางมายังยมโลกและเล่นดนตรีให้เฮเดสและเพอร์ซิโฟเนฟัง


                               เพอร์ซิโฟเนเดินทางกลับมายังโลก

       เฮดีส ยังเป็นชื่อที่หมายถึงยมโลกด้วย เป็นคำเรียกที่ย่อมาจาก The House of Hades เมื่อคนตายแล้ว วิญญาณก็จะเดินทางมายังยมโลก โดยเครอนจะเป็นผู้แจวเรือพาดวงวิญญาณข้ามแม่น้ำสติ๊กซ์ และมีสุนัขสามหัวเซอร์บิรัสเป็นผู้เฝ้าปากทาง  เซอร์บิรัสจะยอมให้วิญญาณผ่านเข้าไป แต่ไม่ยอมให้ผ่านออกมา หากวิญญาณของผู้ใดที่ทำบาปหนา และถูกพิพากษาให้ต้องถูกทรมานชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ วิญญาณก็จะถูกส่งไปยังอเวจีทาร์ทารัส (Tartarus) ซึ่งมืดมิดยิ่งกว่าราตรีที่มืดที่สุด เป็นที่ๆวิญญาณบาปจะถูกจองจำไปตลอดกาล และเป็นที่จองจำเทพไทแทน “ไทแทนเนส” ด้วย


                                          แม่น้ำสติกซ์ Styx

    ขณะที่เพอร์ซิโฟเนเป็นราชินีแห่งคนตายช่วยเฮเดสปกครองยมโลกนั้นเธอเปลี่ยนนิสัยไปเป็นราชินีผู้ไร้อารมณ์พอๆกับเฮเดส แต่เพอร์ซิโฟเนนั้นนานๆทีก็เอาอารมณ์ตัวเองมาปนกับงานบ้าง เช่น ในเรื่องของ แอดเมทุส ซึ่งได้รับพรจากอพอลโลให้เลื่อนอายุขัยไปได้ ถ้าหาคนที่ยอมตายแทนได้ ปรากฏว่าคนเดียวที่ยอมตายแทนแอดเมทุสก็คือภรรยา อัลเคทิส เมื่อเพอร์ซิโฟเนเห็นทานาทอส (เทพแห่งความตาย ซึ่งตำนานหลายๆสำนวนจะยกบทคนนำทางคนตายไปยมโลกของทานาทอสให้เฮอเมสแทน) พาอัลเคทิสมาแทนแอดเมทุสก็เลยถามไถ่จนได้ใจความ ซึ่งตรงนี้มีสองสำนวน อันแรกนั้น แอดเมทุสเศร้าที่ภรรยายอมตายแทนมาก เพอร์ซิโฟเนเลยเห็นใจทั้งสองคน โดยเฉพาะอัลเคทิสที่ยอมตายแทนสามีได้ เลยบอกให้ทานาทอสพาอัลเคทิสกลับไปโลกเบื้องบน เพราะยังไงเธอก็ไม่ใช่คนตายอยู่แล้ว แต่อีกสำนวนนั้น แอดเมทุสดีใจออกนอกหน้าที่ภรรยายอมตายแทน เพอร์ซิโฟเนเลยโมโหมาก สั่งให้ทานาทอสจัดการให้ทุกอย่างถูกต้องตามเดิม นั่นคือพาอัลเคทิสกลับไปแล้วเอาแอดเมทุสมาแทน แม้เฮเดสจะทันทานโดยบอกว่าอพอลโลไปตกลงกับ “มอยรี”  (สามเทพธิดาแห่งชะตากรรม) ไว้แล้ว เธอก็ไม่ยอมฟัง เป็นอันว่าแอดเมทุสก็เลยตายไปอย่างขัดชะตากรรมไม่ได้ (จริงๆแล้วเรื่องของแอดเมทุสนี้มีอีกสำนวน คือเฮราเคลสที่ผ่านมาร่วมงานศพล่วงหน้าของอัลเคทิส พอรู้เรื่องก็สงสารทั้งคู่ เลยรอให้ทานาทอสโผล่มาแล้วอัดซะน่วม ทานาทอสนั้นยอมรับว่าเฮราเคลสเหนือกว่าตน นั่นคือเท่ากับเป็นผู้มีชัยชนะเหนือความตาย และยอมให้อัลเคทิสมีชีวิตอยู่ต่อไป) อีกครั้งนึงก็ตอนที่ออร์ฟิอุสเล่นดนตรีบรรยายความเศร้าที่ต้องแยกจากยูริดิซีผู้เป็นคนรัก ในครั้งนั้นแม้แต่เฮเดสก็ยังอดร้องไห้ไม่ได้



     เฮเดสนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ในดินทั้งมวล จึงมักหาเอาเพชรนิลจินดามาเอาใจเพอร์ซิโฟเนเสมอเสมอ ส่วนเพอร์ซิโฟเนนั้นก็หวงเฮเดสพอดู เคยมีนางพรายชื่อ “มินเธ” หลงรักเฮเดส  ซึ่งไปไหนมาไหนด้วยราชรถทองคำส่องประกายอลังการ เธอก็เลยพยายามยั่วยวนเฮเดส แต่ไม่ทันที่เฮเดส จะได้ทำอะไร เพอร์ซิโฟเนก็สาปมินเธให้กลายเป็นต้นมินต์ไป ฮาเดสคงจะสงสารมินเธก็เลยให้ “มินต์”เป็นต้นไม้ประจำตัวเองเสียเลย ซึ่งชาวกรีกโบราณก็เอาต้นมินต์มาประกอบ “พิธีศพ” อยู่ประจำ (บางสำนวนว่าคนที่สาปมินเธก็คือดีมิเทอร์ที่กลัวว่าลูกเขยจะนอกใจลูกสาวของนางเลยจัดการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมซะเลย) นางไม้อีกนางที่เจอแบบเดียวกันก็คือ “เลอเค” ซึ่งกลายเป็น “ต้นพ็อปลาขาว” แต่บางสำนวนว่ากรณีของเลอเคนั้นเพอร์ซิโฟเนยอมรับให้เป็นอนุของฮาเดสได้ และเธอก็ป่วยตายตามอายุขัยก่อนที่เพอร์ซิโฟเนจะแปลงนางเป็นต้นไม้ และต้นพ็อปลาขาวนี้ก็เป็นตัวแทนของเพอร์ซิโฟเนด้วย

   เท่าที่ปรากฏนั้น เพอร์ซิโฟเนไม่มีลูกกับเฮเดส แต่อโฟรไดท์(เทพีแห่งความรัก)เคยเอาเด็กทารกชื่อ “อโดนิส” มาฝากให้เลี้ยง ปรากฏว่าพออโดนิสโตเป็นหนุ่มแล้วเพอร์ซิโฟเนกลับไม่ยอมคืนให้อโฟรไดท์ ร้อนถึงซุสต้องมาตัดสินให้ โดยให้อโดนิสเลือกอยู่กับคนใดคนหนึ่งเสียหนึ่งในสามของแต่ละปี ส่วนที่เหลือก็อยู่กับอีกคน ซึ่งอโดนิสเลือกอยู่กับอโฟรไดท์มากกว่า
ถึงจะเป็นราชินีแห่งยมโลกแล้ว กิตติศัพท์เรื่องความงามของเพอร์ซิโฟเนก็ยังอยู่  ครั้งหนึ่งเมื่อ ไพริโธอัส ( Pirithous ) กษัตริย์ของพวก แลพิธ ( Lapith ) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรีซ กลายเป็นพ่อม่าย จึงให้สหายของตนคือ ธีซิอัส ( Theseus ) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเอเธนส์ ให้ช่วยหาเจ้าสาวคนใหม่และผู้ที่ไพริโธอัส สนใจคือ “เพอร์ซิโฟเน” ราชินีแห่งยมโลก
ธีซีอัส เคยให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือเพื่อนในทุกเรื่อง จึงไม่อาจปฎิเสธคำขอร้องของไพริโธอัสได้ ทั้งสองลงสู่ยมโลกและทูลความตามประสงค์ในการมาให้เฮเดสทรงทราบ แต่เมื่อได้รับเชิญให้นั่งลงบนม้านั่งวิเศษของเฮเดส ทั้งสองก็ไม่สามารถลุกขึ้นได้ จนวันหนึ่ง เฮอร์คิวลิสได้ลงมาในยมโลกจึงช่วยธีซิอัสขึ้นมาได้สำเร็จ และพากลับสู่เมืองมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย แต่นับจากนั้นมาชาวเอเธนส์ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ ธีซิอัสจึงมีต้นขาเรียวบาง เพราะส่วนหนึ่งของร่างกายยังคง ติดอยู่บนม้านั่งวิเศษในยมโลก
ส่วนไพริโธอัส เฮอร์คิวลิสไม่สามารถช่วยดึงให้ลุกขึ้นจากม้านั่งวิเศษได้ เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวเพราะเทพเจ้าทั้งหลายไม่ยอมให้เฮอร์คิวลิสช่วย ที่เป็นแบบนี้เพราะเทพเจ้าทั้งหลายไม่พอใจในความไม่เจียมตัวของไพริโธอัสนั่นเอง




ที่มา  http://board.postjung.com/706088.html

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บูเช็กเทียน

  A Tang Dynasty Empress Wu Zetian.JPG

อู่ เจ๋อเทียน ตามสำเนียงกลาง หรือ บูเช็กเทียน ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ武则天จีนตัวเต็ม武則天พินอินWǔ Zétiānเวด-ไจลส์Wu Tse-t'ien; พระราชสมภพ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624; สวรรคต 16 ธันวาคม ค.ศ. 705บางทีเรียก อู่ เจ้า (จีน武曌พินอินWǔ Zhàoเวด-ไจลส์WuChao) หรือ อู่ โฮ่ว (จีน武后พินอินWǔ Hòuเวด-ไจลส์WuHou) ในราชวงศ์ถังมักออกพระนามว่า นางพระยาฟ้า (จีน天后พินอินTiān Hòu)และในสมัยต่อมาว่า พระนางอู่ (จีน武后พินอินWǔ Hòu) ทรงเป็นสตรีพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานกว่า 4,000 ปี ที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีน
ในแผ่นดินของพระภัสดาและพระราชบุตรของพระนางระหว่างปี ค.ศ. 665 ถึง 690 พระนางทรงปกครองจีนโดยพฤตินัย ต่อมาในปี ค.ศ. 690 ถึง 705 พระนางทรงสถาปนาราชวงศ์ของพระนางเอง คือ ราชวงศ์โจว หรือในประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า ราชวงศ์อู่โจว และเฉลิมพระนามพระนางเองว่าเป็น "สมมุติเทวะ" (จีน聖神皇帝พินอินshèng shén huáng dì)อันเป็นการละเมิดประเพณีแต่โบราณและยังทำให้ราชวงศ์ถังสะดุดหยุดลงระยะหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ผู้นิยมลัทธิขงจื๊อจึงประณามพระนางเป็นอย่างมาก
พระนางบูเช็กเทียนทรงมีตำแหน่งสำคัญทั้งในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง (จีน唐太宗พินอินTáng Tàizōng; ค.ศ. 598–649) จักรพรรดิองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง และสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง (จีน唐高宗พินอินTáng Gāozōng, ค.ศ. 649-683) พระราชโอรสองค์ที่ 9 ของจักรพรรดิไท่จง จักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ถัง โดยแรกเริ่มทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิไท่จง เมื่อจักรพรรดิไท่จงสิ้นพระชมน์ลงในเวลาต่อมา พระนางจึงได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงเมื่อปี ค.ศ. 655 และได้รับการขนานพระนามว่า "ฮูหยินเกาจง" (จีน高宗夫人พินอินGāozōng fūrén)
ในปี ค.ศ. 690 หลังจากจักรพรรดิเกาจงสิ้นพระชมน์และผ่านการต่อสู้แย่งชิงพระราชอำนาจนานกว่า 7 ปี ในที่สุดพระนางได้ทรงตั้งตนขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน รวมถึงประกาศเปลี่ยนราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจวตั้งแต่นั้นมา และทรงสิ้นพระชนม์ลงเมื่อปี ค.ศ. 705
ในช่วงที่พระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้นำทั้งด้านการปกครองและการทหาร มีการขยายอำนาจของจีนออกไปเป็นอันมากเกินกว่าอาณาเขตดินแดนเดิมที่เคยมีมา ไปถึงบริเวณทวีปเอเชียกลาง รวมถึงการครอบครองพื้นที่แถบคาบสมุทรเกาหลีเหนือตอนบน ส่วนภายในประเทศจีนเอง แม้จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของพระนางทั้งในการสู้รบ ปราบปรามกบฏ และลงโทษประหารชีวิต แต่พระนางได้ทรงพัฒนาประเทศโดยการส่งเสริมและเผยแพร่ระบบการสอบจอหงวนเพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงถึงชนชั้น ส่งเสริมและยกระดับบทบาทของสตรีเพศโดยเปิดโอกาสให้เข้ารับตำแหน่งราชการในระดับสูง นอกจากนี้พระนางยังให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนด้วยการลดภาษีอากรที่กดขี่ ส่งเสริมการเกษตรและการสร้างงานทำให้ประเทศจีนในยุคของพระนางมีความเข้มแข็งและพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
พระนางบูเช็กเทียนทรงส่งเสริมและให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนามากกว่าลัทธิเต๋าในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ จนจัดให้มีการสร้างวัดและปฏิมากรรมในถ้ำ เช่น ถ้ำผาหลงเหมินกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้รับการพัฒนาอย่างสูงสุดในประเทศจีนในช่วงยุคของพระนางนั่นเอง
นอกจากในฐานะผู้นำทางการเมืองพระนางบูเช็กเทียนยังมีชีวิตครอบครัวที่โดดเด่น แม้ว่าในบางครั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเป็นปัญหาให้แก่พระนาง ทรงมีพระโอรส 3 พระองค์ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์บัลลังก์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ และพระนัดดาของพระนางคือ สมเด็จพระจักรพรรดิถังเสวียนจง (จีน唐玄宗พินอินTáng Xuánzōng) แห่งราชวงศ์ถัง กษัตริย์ผู้ปกครองหนึ่งในยุคทองแห่งประวัติศาสตร์จีน

พระนามและพระยศ

ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ชื่อ บูเช็กเทียน เป็นที่รู้จักกันในชื่อหรือพระนาม (รวมถึงตำแหน่งฐานัดรศักดิ์) อีกหลายชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนามในภาษาอังกฤษ มีการใช้การเรียกชื่ออย่างหลากหลายเนื่องจากความซับซ้อนในการแปลงเสียงจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงการระบุเพศตามตำแหน่งเชื้อพระวงศ์ (เช่น คำว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิ (emperor)" และ "สมเด็จพระจักรพรรดินี (empress)" หรือ "เจ้าชาย (prince)" และ "เจ้าหญิง (princess)" เป็นต้น) ในขณะที่คำในภาษาจีนโบราณ เช่นคำว่า โฮ่ว hou (后, "sovereign", "prince", "queen") หรือ หวงตี้ huangdi (皇帝, "imperial supreme ruler", "royal deity") นั้นไม่มีการระบุเพศที่ชัดเจนตามหลักไวยกรณ์ (grammatically indeterminate gender)  สำหรับในภาษาไทย พระนางเป็นที่รู้จักแพร่หลายในชื่อ บูเช็กเทียน ตามเสียงอ่านในภาษาจีนในสำเนียงฮกเกี้ยน

พระนาม

พระนางบูเช็กเทียน หรืออู่เจ๋อเทียน ทรงมีพระนามเดิมว่า อู่เจ้า (Wu Zhao)  (บางครั้งใช้ตัวอักษรจีนว่า "武曌" (พินอิน: Wǔ Zhào) หากว่าตัวอักษรที่ใช้จริงไม่เป็นที่ปรากฏชัด อย่างไรก็ตามคำว่า "เจ้า" ไม่ได้ใช้ตัวอักษร "瞾" เนื่องจากตัวอักษรนี้เป็นอักษรที่มีการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยของพระนางบูเช็กเทียนเอง) ส่วนแซ่หรือนามสกุลของพระนางคือ "อู่" "ซึ่งยังคงใช้อยู่แม้ว่าจะทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจง ซึ่งอยู่ในราชสกุล หลี่
ต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดิไท่จงทรงพระราชทานพระนามให้แก่พระนางบูเช็กเทียนว่า "เม่ย" (อังกฤษ: Mei; จีน: 媚; พินอิน: Mèi) มีความหมายว่า "น่ารัก" ทำให้ในปัจจุบัน ประชาชนจีนมักเอ่ยพระนามของพระองค์ว่า อู่เหม่ย (Wu Mei) หรืออู่เหม่ยเนียง (อังกฤษ: Wu Meiniang; จีน: 武媚娘; มีความหมายตามตัวอักษรว่า สตรีแซ่อู่ที่มีเสน่ห์) เมื่อกล่าวถึงชีวิตในวัยเยาว์ของพระองค์ และจะใช้ชื่อเรียกพระนามว่า พระนางบู (อังกฤษ: Empress Wu; จีน: 武后) เมื่อกล่าวถึงพระนางในช่วงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสี (หรือฮองเฮา) และพระพันปี (หรือไทเฮา) แล้ว ส่วนการใช้คำว่า อู่เจ๋อเทียน (อังกฤษ: Wu Zetian; จีน: 武則天) จะใช้เมื่อกล่าวถึงพระองค์ในขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี

พระยศ

นช่วงชีวิตจนถึงช่วงหลังการสิ้นพระชมน์ พระนางบูเช็กเทียนทรงได้รับตำแหน่งทางราชสำนักหลายตำแหน่ง (สำหรับตำแหน่งที่ได้รับตามลำดับเวลา ดูเพิ่มที่: List of titles of Wu Zetian) โดยคำว่า โฮ่ว hou (后) และหวงตี้ huangdi (皇帝) ต่างเป็นตำแหน่ง โดยพระนางเป็นที่รู้จักในพระนาม "อู่โฮ่ว (Wu Hou)" ภายหลังจากได้รับตำแหน่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 655 และต่อมาเป็นที่รู้จักในพระนามว่า "อู่เจ๋อเทียน (Wu Zetian)" ซึ่งเป็นพระนามในฐานะกษัตริย์ครั้งทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี ค.ศ. 690 ในตำแหน่ง หวงตี้ (huangdi)

"พระจักรพรรดินี"

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินีที่ทรงเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระจักรพรรดิ (Empress consort) หรือสมเด็จพระจักรพรรดินี ที่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ (Empress regnant) ตำแหน่งเหล่านี้ในภาษาจีนถูกแปลและใช้คำในภาษาอังกฤษว่า "สมเด็จพระจักรพรรดินี (empress)" เช่นเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งเป็นผู้นำและหัวหน้าครอบครัว พระมเหสีของพระองค์จะได้รับตำแหน่งที่เรียกว่า หฺวังโฮ่ว (ตามสำเนียงจีนกลาง) หรือ ฮองเฮา(ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) (อังกฤษ: empress; จีน: 皇后; พินอิน: huánghòu) จนเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิสิ้นพระชมน์ลง ฮองเฮาหม้ายของพระองค์จะได้รับตำแหน่งเป็น หฺวังไท่โฮ่ว (ตามสำเนียงจีนกลาง) หรือ ฮองไทเฮา (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) (อังกฤษ: empress dowager; จีน: 皇太后; พินอิน: huángàihòu) หรือบางทีเรียกย่อเพียง ไท่โฮ่ว หรือ ไทเฮา แปลว่า พระพันปี เป็นตำแหน่งซึ่งให้แก่มารดาพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งยังให้แก่สตรีอื่นซึ่งอยู่ในรุ่นเดียวกับมารดาพระเจ้าแผ่นดินดังกล่าว เช่น ภริยาเอกของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในรัชกาลปัจจุบัน และในหลายครั้งที่องค์ไทเฮาทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิผู้ยังทรงพระเยาว์ด้วย
ตั้งแต่รัชสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ (259–210 BC) เป็นต้นมา สมเด็จพระจักรพรรดิจีนทรงใช้ตำแหน่งที่เรียกว่า หวงตี้ (Huangdi) ดังนั้นพระนางบูเช็กเทียนผู้ทรงเป็นสตรีคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์จีนจึงทรงได้รับตำแหน่งหรือพระนามเรียกขานว่าหวงตี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม พระนางทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองของจีนโดยทางพฤตินัยทั้งในสมัยพระภัสดาและพระโอรสของพระองค์ หรือในช่วงปี ค.ศ. 665 ถึง 690
เมื่อพระนางทรงขึ้นครองราชย์ ในปี ค.ศ. 690 พระนางได้สถาปนาราชวงศ์โจว (อังกฤษ: Zhou; จีน: 周; พินอิน: Zhōu) ขึ้นใหม่แทนราชวงศ์ถังในรัชกาลก่อนหน้า โดยดำรงพระอิสริยยศเป็น สมมุติเทวะ (อังกฤษ: Sacred and Divine Empress Regnant; จีน:聖神皇帝; พินอิน: Shèng shén huángdì) ระหว่างปี ค.ศ. 690 ถึง 705
กล่าวได้ว่า พระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ได้ทรงฉลองพระองค์ชุดคลุมสีเหลือง ซึ่งถือว่าเป็นฉลองพระองค์สำหรับกษัตริย์ 

ประวัติ

พระราชสมภพ

(สำหรับรายนามสมาชิกในครอบครัวของบูเช็กเทียน ดูเพิ่มที่: List of family of Wu Zetian)
ตระกูลอู่มีต้นกำเนิดในเมืองเหวินสุ่ย (อังกฤษ: Wenshui; จีน: 文水) มณฑลปิ้งโจว (อังกฤษ: Bingzhou; จีน: 并州) (ปัจจุบันคือ เขตเหวินสุ่ย (อังกฤษ: Wenshui County) ในมณฑลซานซี) บูเช็กเทียนเกิดในเมืองลี่โจว (อังกฤษ: Lizhou; จีน: 利州) (ปัจจุบันคือ เมืองก่วงหยวน (อังกฤษ: Guangyuan; จีน: 广元) ในมณฑลเสฉวน)หรือมิฉะนั้นอาจเป็นที่เมืองฉางอาน (ปัจจุบันคือเมืองซีอาน) ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจู่ ทรงประสูติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624 และสิ้นพระชมน์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 705
พระนางบูเช็กเทียนประสูติในปีที่ 7 แห่งรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจู่ โดยปีนั้นเป็นปีที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse of the Sun) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในประเทศจีน บิดาของพระนางคือ อู่ ซึ่อฮั่ว (อังกฤษ: Wu Shihuo; จีนตัวย่อ: 武士彟; จีนตัวเต็ม: 武士彠; พินอิน: Wǔ Shìhuò; 559-635 CE) มีอาชีพเกี่ยวกับการค้าไม้ ซึ่งเป็นเพียงพ่อค้าสามัญชนธรรมดาที่มีฐานะคนหนึ่ง ส่วนมารดาของพระนางนั้นมาจากตระกูลหยางซึ่งเป็นตระกูลที่มีอำนาจมากในสมัยนั้น ในช่วงปีสุดท้ายของรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิสุยหยาง หลี่หยวน (อังกฤษ: Li Yuan; จีน: 李淵)  ผู้มีตำแหน่งแม่ทัพขุนนางในราชวงศ์สุย ซึ่งภายหลังกลายเป็นจักรพรรดิถังเกาจู่แห่งราชวงศ์ถังได้เข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านของตระกูลอู่ (หรือบู) หลายครั้งจนมีความสนิทสนมกับครอบครัวนี้ หลังจากหลี่หยวนล้มล้างอำนาจของจักรพรรดิสุยหยางได้แล้ว เขาได้ตอบแทนครอบครัวอู่ด้วยเงินทอง เมล็ดพันธุ์พืช ที่ดิน และแพรพรรณเนื้อดีต่าง ๆ เป็นอันมาก และเมื่อสถาปนาราชวงศ์ถังสำเร็จ อู่ซี่อฮั่วได้รับตำแหน่งเสนาบดีอาวุโสและตำแหน่งผู้ครองเมืองหยางโจว ลี่โจว และจิงโจว (อังกฤษ: Jingzhou;จีน: 荊州) ปัจจุบันคือ เขตเจียงหลิง (อังกฤษ: Jiangling County; จีน: 江陵县) ในมณฑลหูเป่ย์ เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจู่สิ้นพระชมน์ลง พระราชโอรสของพระองค์ คือ เจ้าชายหลี่จื้อ (อังกฤษ: Li Zhi; จีน: 李治; พินอิน: Lǐ zhì) จึงขึ้นครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงนั่นเอง
พระราชมารดาของพระนางบูเช็กเทียนนั้นเดิมทรงเป็นเชื้อสายพระราชวงศ์สุย (隋朝) ซึ่งปกครองประเทศจีนมาก่อนราชวงศ์ถังซึ่งคุณนายหรือเลดี้หยาง พระราชมารดาของพระนางบูเช็กเทียนนั้นเดิมเป็นพระนัดดาของกวนหวาง (จีน: 关王; พินอิน: Guān wáng) หรือพระนามเดิม หยางสง ซึ่งเป็นพระญาติสนิทของสมเด็จพระจักรพรรดิสุยหยางตี้ (พระนามจริงว่า หยางกว่าง) จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สุย จึงนับได้ว่าคุณนายหยางเป็นผู้เกิดในชาติตระกูลสูง หากราชวงศ์สุยมิได้ล่มสลายลงไปเสีย อู่ซึ่อฮั่วคงมิได้มีโอกาสพบองค์หญิงหยาง แต่เมื่อราชวงศ์สุยล่มสลายไป องค์หญิงหยางจึงจำต้องหาที่พึ่งพิง สตรีในยุคนั้นมีทางเลือกไม่มากนัก เนื่องจากขณะนั้นพระองค์เป็นเพียงสมาชิกราชวงศ์ที่ตกยาก ซึ่งอู่ซึ่อฮั่วเองก็ต้องการที่หาภริยาที่จะมาส่งเสริมเชิดชูเกียรติตนเองเช่นกัน โดยเฉพาะในยามที่ต้องออกสังคมกับพวกขุนนาง ซึ่งก็มักจะเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นองค์หญิงเชื้อสายราชวงศ์สุยอย่างองค์หญิงหยางจึงเป็นที่หมายปองของอู่ซึ่อฮั่วเป็นอย่างมาก เมื่อความต้องการของทั้งสองฝ่ายตรงกัน องค์หญิงหยางจึงทรงสมรสกับอู๋ซึ่อฮั่ว (โดยมีฐานะเป็นภริยาคนที่สอง เนื่องจากอู่ซึ่อฮั่วมีภริยาคนแรกอยู่แล้วเป็นหญิงสามัญชน) และถูกเรียกขานนามว่า คุณนายหยาง นับแต่นั้นมา แม้จะเป็นภริยาคนที่ 2 แต่ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์เก่ามาก่อนคุณนายหยางจึงเป็นที่รักและยกย่องของอู๋ซึ่อฮั่วอย่างมาก ทำให้ภริยาคนแรกกับบุตรชายทั้ง 2 ที่เกิดกับภริยาคนแรกไม่ชอบใจคุณนายหยางและเกิดเหตุกระทบกระทั่งทำร้ายจิตใจกันตลอดมา
ครั้นต่อมาเมื่อคุณนายหยางได้ให้กำเนิดทารกน้อยบูเช็กเทียน ได้มีเรื่องเล่ากันว่ามีโหรใหญ่คนหนึ่งชื่อหยวนเทียนกังมาเห็นทารกน้อยบูเช็กเทียนที่น่ารักคนนี้ และนึกว่าเป็นเด็กชายจึงออกปากทักไปว่า เด็กคนนี้ถ้าหากเป็นหญิงล่ะก็ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินจีนเป็นแน่ ยิ่งกว่านั้นเมื่อบูเช็กเทียนได้เข้าวังไปแล้ว โหราจารย์แห่งราชสำนักยังได้พยากรณ์สำทับอีกว่า ต่อไปสตรีแซ่อู่จะมีอำนาจขึ้นล้มราชวงศ์ถัง

พงศาวลี

บูเช็กเทียนเกิดในตระกูลร่ำรวย มีคนรับใช้ที่คอยช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่เคยเรียนรู้งานในบ้านใด ๆ บิดาของนางสนับสนุนให้นางอ่านหนังสือและศึกษาเล่าเรียนหนังสือแทน ซึ่งแตกต่างจากบิดาที่มีบุตรสตรีคนอื่น ๆ ในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และบูเช็กเทียนเองก็มิได้เป็นสตรีประเภทที่สามารถนั่งเงียบ ๆ ทำงานเย็บปักถักร้อย หรือดื่มชาทั้งวันได้ นางจึงตั้งใจเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิชาด้านการเมืองและการปกครอง การเขียน วรรณกรรม และดนตรี เป็นต้น นางเติบโตขึ้นพร้อมกับการเรียนรู้มากมายที่บิดาของนางเป็นผู้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุได้ 14 ปี จึงถูกส่งเข้าถวายตัวเป็นนางสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงวัยพระเยาว์

เมื่อพระนางอายุได้ 14 ปี ได้ถูกส่งเข้าถวายตัวเป็นพระสนมของจักรพรรดิถังไท่จง และที่นี่เองที่พระนางเริ่มรับหน้าที่ฝ่ายในในตำแหน่งคล้ายเลขานุการ ซึ่งทำให้พระนางได้สานต่อด้านการศึกษาอีกครั้ง
ในรัชกาลของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงนั้น พระอัครมเหสี หรือ พระจักรพรรดินี หรือ หวงโฮ่ว (จีน: 皇后; พินอิน: Huánghòu) คือสมเด็จพระจักรพรรดินีฉางซุน (จีน: 长勋皇后; พินอิน: Zhǎng xūn huánghòu; พระนางทรงมีแซ่ 2 พยางค์คือ ฉางซุน หรือ จ่างซุน ส่วนพระนามคือ อู่เต๋อ) ทรงเป็นพระชนนีของพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ของจักรพรรดิถังไท่จง ในเวลาต่อมาเจ้าชายหลี่เฉิงเฉียน พระราชโอรสพระองค์แรกผู้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท (จีน: 皇太子; พินอิน: Huáng tàizǐ) กับพระราชโอรสองค์ต่อมาคือ เจ้าชายหลี่ไท่ ซึ่งมีความขัดแย้งต่อกันมานาน เนื่องจากเจ้าชายหลี่ไท่ทรงมีความต้องการที่จะเป็นรัชทายาท แต่ด้วยความที่พระองค์มิได้ทรงเป็นพระราชโอรสองค์แรก พระองค์ยังทรงทราบด้วยอีกว่าองค์รัชทายาท เจ้าชายหลี่เฉีงเฉียนนั้นเป็นพวกรักร่วมเพศ จึงทรงพยายามทุกทางที่จะกำจัดพระเชษฐาของพระองค์เองให้ได้ โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าชายหลี่เฉิงเฉียนองค์รัชทายาทเกือบจะถูกจักรพรรดิไท่จงพระบิดาจะจับได้แล้วว่าพระองค์นั้นทรงเป็นพวกรักร่วมเพศ หากแต่หลักฐานไม่เพียงพอ จักรพรรดิไท่จงจึงทรงเลือกที่จะเชื่อพระราชโอรสของพระองค์มากกว่า และโปรดให้ประหารชีวิตขันทีคนสนิทซึ่งเป็นคู่รักขององค์รัชทายาทเสีย แต่ไม่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดเจ้าชายหลี่เฉิงเฉียนจากรัชทายาทแต่อย่างใด ต่อมาองค์รัชทายาทวางแผนกบฏเพื่อรวบอำนาจมาไว้ที่ตนเองแต่ผู้เดียว เพื่อเป็นการกำจัดเจ้าชายหลี่ไท่พระอนุชาด้วย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน ในครั้งนี้จักรพรรดิไท่จงไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดเจ้าชายหลี่เฉิงเฉียน จากตำแหน่งองค์รัชทายาทลงเป็นสามัญชน แล้วจึงเนรเทศไปอยู่ตำบลในเขตชายแดน หลี่เฉิงเฉียนอยู่ได้อีกไม่นานก็ถึงแก่กรรมที่ตำบลชายแดนนั้นเอง ส่วนเจ้าชายหลี่ไท่ พระราชโอรสองค์ต่อมาก็พลาดหวังจากตำแหน่งรัชทายาท โดยตำแหน่งองค์รัชทายาทกลับไปตกอยู่กับเจ้าชายหลี่จื้อ (อังกฤษ: Li Zhi; จีน: 李治; พินอิน: Lǐ zhì) พระราชโอรสพระองค์เล็กของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง และเป็นพระอนุชาของเจ้าชายหลี่ไท่นั่นเอง ด้วยจักรพรรดิไท่จงทรงมีพระราชดำริเองว่าพระราชโอรสพระองค์รองนั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจโหดเหี้ยม แม้จะมีความสามารถเหนือกว่าแต่ก็ไม่สมควรได้ครองแผ่นดิน ส่วนพระราชโอรสพระองค์เล็กนั้นแม้จะไม่เข้มแข็งเด็ดขาด แต่ก็มีพื้นฐานจิตใจค่อนไปทางฝ่ายดีงาม การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมประวัติศาสตร์จีนในอีกไม่นานนับจากนั้น
ต่อมาไม่นานใน ปึ ค.ศ. 649 สมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงทรงเสด็จสวรรคต เจ้าชายหลี่จื้อซึ่งเป็นองค์รัชทายาทได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน และทรงพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง (จีน: 唐高宗皇帝; พินอิน: Tánggāozōng huángdì; ครองราชย์ปี ค.ศ. 649 - 683) เป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์ถังนับจากองค์ปฐมจักรพรรดิถังเกาจู่เป็นต้นมา โดยทรงมีอัครชายาที่พระราชบิดาทรงพระราชทานอภิเษกสมรสให้มาแต่เดิม พระอัครชายาพระองค์นี้จึงได้ครองพระราชอิสริยยศสมเด็จพระอัครมเหสี ออกพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีหวาง (จีน: 王皇后; พินอิน: Wáng huánghòu) ด้วยพระนางทรงมีพระนามเดิมว่า หวาง (王姓)
นางสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง
เมื่อพระนางบูเช็กเทียนเข้ามาเป็นนางสนมโดยการอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรสของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง (ราวปี ค.ศ. 636 ถึง 638) และได้รับยศเป็น "ไฉเหริน" (อังกฤษ: cairen; จีน: 才人; พินอิน: Cái rén) ซึ่งเป็นตำแหน่งนางสนมระดับที่ 5 ในระบบ 9 ขั้นของข้าราชการ ชนชั้นสูง และนางสนม ในราชสำนักแห่งราชวงศ์ถัง (Tang's nine-rank system) โดยครั้งเมื่อพระนางถูกส่งตัวเข้าวังนั้น เลดี้หยางผู้เป็นมารดาร้องไห้คร่ำครวญอย่างขมขื่นกับโชคชะตาของพระนาง หากแต่บูเช็กเทียนได้กล่าวกับมารดาของพระนางว่า "ท่านรู้ได้อย่างไรว่านี้มิใช่โชคของข้าพเจ้าที่ได้พบกับพระโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven)" เมื่อได้เข้าใจในความทะเยอทะยานของพระนาง เลดี้หยางจึงได้หยุดร้องไห้
อย่างไรก็ตามพระนางบูเช็กเทียนมิได้เป็นที่โปรดปรานขององค์จักรพรรดิไท่จงนัก แม้ว่าพระนางจะเคยได้เข้ารับใช้พระองค์ในฐานะนางสนม (มีความสัมพันธ์ทางเพศ) ในช่วงที่พระนางบูเช็กเทียนเป็นนางสนมอยู่นั้น ได้แสดงนิสัยอันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญดจนทำให้จักรพรรดิไท่จงเกิดความประทับใจ ในเวลานั้นจักรพรรดิถังไท่จงทรงมีม้าชื่อ "สิงโตป่า (Lion Stallion)" ที่มีลักษณะดุดันและแข็งแรงมาก ไม่มีผู้ใดสามารถขึ้นนั่งฝึกม้าตัวนี้ได้ พระนางบูเช็กเทียนซึ่งเข้ารับใช้เป็นนางสนองพระโอษฐ์อยู่ได้เสนอกับจักรพรรดิถังไท่จงว่าตนสามารถปราบม้าตัวนี้ได้ โดยใช้ของสามสิ่ง คือ แส้เหล็ก ค้อน และกริช โดยจะใช้แส้เหล็กเฆี่ยนมันก่อน ถ้าม้านั้นไม่ยอมเชื่อฟัง ก็จะใช้ค้อนตีหัวม้า หากยังไม่ยอมอีก ก็จะเอากริชเชือกคอมันให้ตายลงเสียองค์จักรพรรดิถังไท่จงได้สดับฟังคำแนะนำของพระนางแล้วชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวของบูเช็กเทียนมาก หากแต่พระองค์ก็รู้สึกตกใจมาก และมีความรู้สึกลึก ๆ กว่านางสนมที่เคร่งรัดถือตัวไม่ควรพูดจาแบบนี้ แต่เจ้าชายหลี่จื้อ (อังกฤษ: Li Zhi; จีน: 李治; พินอิน: Lǐ zhì) ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทในขณะนั้นกลับติดใจและหลงรักบูเช็กเทียนที่มีอายุมากกว่าเขา 4 ปี
นระหว่างนี้บูเช็กเทียนก็ได้แอบลักลอบมีความสัมพันธ์กับองค์รัชทายาท ซึ่งเป็นพระโอรสองค์สุดท้ายของจักรพรรดิไท่จง คือ เจ้าชายหลี่จื้อ แต่ความสัมพันธ์นี้มีอันต้องหยุดลงเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิไท่จงสิ้นพระชมน์ลงในปี ค.ศ. 649 เจ้าชายหลี่จื้อ ซึ่งมีพระมารดาพระนามว่า "เหวิ๋นเต์อ (Wende)" เป็นพระมเหสีเอกของสมเด็จพระจักรพรรดิไท่จง ได้สืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อโดยมีพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง (อังกฤษ: Emperor Tanggaozong; จีน: 唐高宗皇帝; พินอิน: Tánggāozōng huángdì; ครองราชย์ปี ค.ศ. 649 - 683)

บวชเป็นภิกษุณี (Consigned to the convent)

สมเด็จพระจักรพรรดิไท่จงทรงมีพระโอรสทั้งหมด 14 พระองค์ โดยมี 3 พระองค์เป็นพระโอรสในพระมเหสีเอก คือ พระนางเหวิ๋นเต๋อ (อังกฤษ: Empress Wende; จีน: 文德皇后; พินอิน: Wén dé huánghòu; 601–636) แต่พระองค์มิได้มีพระโอรสกับพระสนมบูเช็กเทียน[ตามพระราชประเพณีโบราณของราชสำนัก หากพระมเหสีหรือนางสนมคนใดไม่มีพระโอรสหรือพระธิดากับพระมหากษัตริย์ และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระมเหสีและนางสนมเหล่านั้นจะต้องออกจากราชสำนักและบวชเข้าสำนักสงฆ์ตลอดชีวิต พระนางบูเช็กเทียนจึงถูกส่งตัวไปยังวัดก่านเย่ (อังกฤษ: Ganye Temple; จีน: 感業寺) เพื่อบวชเป็นภิกษุณีจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (บางส่วนอ้างว่าเป็นเพราะจักรพรรดิไท่จงทรงทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบูเช็กเทียนกับพระราชโอรสของพระองค์ แต่ด้วยความเสน่หาในความงามของบูเช็กเทียน พระองค์จึงไม่ทรงสั่งประหารชีวิต แต่หากให้บูเช็กเทียนไปบวชแทน)
พระนางบูเช็กเทียนต้องพลัดพรากจากวังไปนานถึงสองปี จึงได้มีโอกาสได้พบกับสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงเดินทางไปยังวัดก่านเย่ที่พระนางบูเช็กเทียนบวชอยู่ ในช่วงเวลานี้เองที่พระมเหสีของจักรพรรดิถังเกาจงทรงแอบเห็นว่าทั้งสองมีความผูกพันต่อกัน จึงชักชวนให้บูเช็กเทียนเข้ามาเป็นนางสนมเอกแทนที่นางสนมเอกแซ่เซียว ซึ่งมีความขัดเคืองกันอยู่และไม่ต้องพระทัยของพระมเหสีของจักรพรรดิถังเกาจงนัก

การขึ้นสู่อำนาจ

นราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 650 พระนางบูเช็กเทียนได้กลับเข้าวังอีกครั้งในฐานะพระสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง พระราชโอรสของจักรพรรดิถังไท่จง ได้รับยศเป็น เจาหยี (อังกฤษ: Zhaoyi; จีน: 昭儀) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในบรรดาศักดิ์เก้าชั้นของนางสนม ทำให้พระนางมีอำนาจและอิทธิพลในการบริหารราชการเป็นอย่างมากในช่วงตลอดรัชสมัยของจักรพรรดิถังเกาจง และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้มีความทะเยอทยานในอำนาจเป็นอย่างมาก มีนักประวัติศาสตร์จีนโบราณบางคนเชื่อว่าพระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้สังหารพระธิดาของพระนางเองเพื่อใส่ร้ายและโยนความผิดให้แก่จักรพรรดินีหวาง (อังกฤษ: Empress Wang; จีน: 王皇后; พินอิน: Wáng huánghòu) (ผู้เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง) ในการก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วย

จากสำนักภิกษุณีกลับมาเป็นนางสนมอีกครั้ง

สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่ทรงมีพระชมน์มายุเพียง 21 ปี ทรงเป็นผู้ด้อยประสบการณ์และความสามารถ ประกอบกับมีสุขภาพที่อ่อนแเอ หากทรงได้รับการแต่งตั้งจากพระราชบิดาจักรพรรดิถังเกาจงให้ทรงเป็นองค์รัชทายาทเนื่องจากความอัปยศของพระเชษฐาทั้งสองของพระองค์
สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงนั้นทรงเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหากแต่มีจิตใจที่ดี แม้ว่าพระองค์จะค่อนข้างไปทางหูเบาและฝักใฝ่ในกามารมณ์ ไม่นานหลังจากขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงหลงไหลและโปรดปรานในตัวพระสนมเซียว (แซ่เซียว นามว่าฮุ่ยจือ ซึ่งเดิมเป็นสตรีสามัญชน) (อังกฤษ: Consort Xiao; จีน: 宵恕妃; พินอิน: Xiāo shù fēi) อย่างมาก จนต่อมาในภายหลังถึงกับโปรดเกล้าฯให้สถาปนานางขึ้นเป็นพระมเหสีลำดับที่ 3 ออกพระนามว่า พระมเหสีเซียว 
จักรพรรดินีหวางทรงตระหนักดีว่าพระราชสวามีโปรดปรานพระสนมเซียวมาก จนทรงกลัวว่าจะส่งผลถึงฐานะของพระนาง ซึ่งก็เป็นความจริงดังที่องค์จักรพรรดินีทรงกังวล เพราะไม่นานต่อมาพระสนมเซียวก็ทรงพระครรภ์และให้พระประสูติการพระราชกุมารพระองค์น้อยที่มีสุขภาพแข็งแรง ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายหลี่ซู่เจี๋ย (Li Sujie) และธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงยี่หยาง (Yiyang) และเจ้าหญิงซวนเฉิง (Xuancheng) แก่จักรพรรดิเกาจง องค์จักรพรรดิทรงปีติยินดีอย่างยิ่ง ถึงกับโปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระราชโอรสพระองค์น้อยขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งรัฐสี่ (喜王) ตั้งแต่แรกประสูติทีเดียว และยังมีพระราชปรารภว่าจะให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทอีกด้วย พระอัครมเหสีหวางทรงตื่นตกใจมากและได้พยายามใช้กุศโลบายทุกทางจนสามารถเปลี่ยนพระทัยสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงให้สถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในบรรดาพระราชโอรสทั้งหมด คือ พระองค์เจ้าชายหลี่จง กษัตริย์แห่งรัฐเอี้ยน (燕王) ซึ่งมีพระมารดาเป็นเพียงพระสนม คือพระสนมหลิว ซึ่งเป็นพระญาติกับพระจักรพรรดินีหวางทางฝ่ายพระมารดาให้เป็นองค์รัชทายาทแทนได้สำเร็จ ทำให้พระสนมเซียวโกรธแค้นอย่างยิ่ง
ในระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จงจักรพรรดิเกาจงทรงเข้าออกวัดก่านเย่ (Ganye Temple) เพื่อทรงจุดธูปบูชาพระบรมศพพระราชบิดา ทำให้พระองค์ได้พบกับพระนางบูเช็กเทียนอีกครั้ง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิเกาจงและพระนางบูเช็กเทียนผู้เคยเป็นที่ทรงปฏิพัทธิ์มาตั้งแครั้งรัชกาลก่อนนั้นอยู่ในสายพระเนตรของพระจักรพรรดินีหวางพระจักรพรรดินีหวางผู้ซึ่งไม่ได้เป็นที่โปรดปรานแห่งองค์จักรพรรดินัก ด้วยพระองค์ทรงโปรดพระสนมเซียวมากกว่า ดังนั้นเมื่อจักรพรรดินีหวางเห็นว่าสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงยังมีความสนใจและประทับใจในความงามของบูเช็กเทียนอยู่ จักรพรรดินีหวางจึงวางแผนให้รับพระนางบูเช็กเทียนกลับเข้าสู่ราชสำนักอีกครั้งในฐานะพระสนมอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อดึงความสนใจของจักรพรรดิเกาจงจากพระสนมเซียวเสีย
หลังจากพระนางบูเช็กเทียนออกจากวัดเพื่อกลับเข้าสู่ราชสำนักในฐานะของพระสนมของจักรพรรดิเกาจงอีกครั้ง (แม้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงจะมีฐานะเป็นลูกเลี้ยงของพระนาง นอกจากนั้นยังมีผู้เชื่อว่าพระนางเคยมีเพศสัมพันธ์กับจักรพรรดิไท่จงผู้วายชมน์แล้ว จึงกล่าวได้ว่าเป็นการร่วมประเวณีกับญาติสนิท
พระจักรพรรดินีหวางทรงคิดว่าเพียงแต่จะชักนำพระนางบูเช็กเทียนเข้ามาสู่ราชสำนักอีกครั้งเพื่อดึงความสนพระทัยของจักรพรรดิเกาจงออกจากพระมเหสีเซียวเท่านั้น พอกำจัดพระมเหสีเซียวไปได้แล้วก็จะค่อยกำจัดบูเช็กเทียนในภายหลัง จึงไม่ทรงขัดขวางเมื่อพระราชสวามีมีพระราชดำริจะรับพระนางบูเช็กเทียนเข้าวังในอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้พระนางบูเช็กเทียนไม่ได้ดำรงฐานะเป็นเพียงพระสนมธรรมดาเหมือนในรัชกาลก่อน หากแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นถึง "เจายี่" หรือ พระสนมเอกลำดับ 1 (จีน: 昭宜; พินอิน: Zhāo yí) จากบรรดาพระสนมเอกของจีนซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น นับว่าเป็นที่ 3 ในวังรองจากสมเด็จพระจักรพรรดินีหวาง และพระสนมเซียวทีเดียว ซึ่งพระนางบูเช็กเทียนพระสนมเอกก็ไม่ทำให้องค์จักรพรรดินีหวางทรงผิดหวัง เพราะหลังจากนั้นไม่นานจักรพรรดิเกาจงก็ทรงลืมพระมเหสีเซียวไปเสียสนิท

พระโอรส

ปี ค.ศ. 652 พระนางบูเช็กเทียนทรงให้กำเนิดพระโอรส คือ หลี่หง (Li Hong) และต่อมาในปี ค.ศ. 653 พระนางก็ได้ให้กำเนิดพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง คือ หลีเสียน (อังกฤษ: Li Xian; จีน: 李賢; พินอิน: Li Xián หรือ อังกฤษ: Crown Prince Zhanghuai; จีน: 章懷太子; ค.ศ. 653–684) ซึ่งทั้งสองพระองค์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจง เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดินีหวางและพระปิตุลาของพระนาง คือ อัครมหาเสนาบดีหลิวซื่อ (the chancellor Liu Shi) ทรงเกลี้ยกล่อมให้จักรพรรดิเกาจงทรงแต่งตั้งพระโอรสพระองค์โต คือ เจ้าชายหลี่จง (อังกฤษ: Li Zhong; จีน: 李忠; พินอิน: Lǐ zhōng; ค.ศ. 643 – 6 มกราคม ค.ศ. 665) ซึ่งถือกำเนิดจากพระสนมหลิวเป็นองค์รัชทายาทไปก่อนหน้าแล้ว

ข้อกล่าวหาแก่สมเด็จพระจักรพรรดินี

เมื่อมีโอกาสพระนางบูเช็กเทียนก็ไม่รอช้าที่จะกำจัดองค์จักรพรรดินีหวางออกไปเสียด้วย ก่อนที่ตนเองจะเป็นฝ่ายถูกกำจัดออกไปแทน โดยมีเรื่องที่บันทึกไว้มีว่า ในปี ค.ศ. 654 พระนางบูเช็กเทียนทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมือพระจักรพรรดินีหวางเสด็จไปทรงเยี่ยมเจ้าหญิงพระธิดาองค์น้อยซึ่งยังมีพระชนม์ไม่ถึงเดือน นัยว่าเสด็จไปทรงเยี่ยมตามราชประเพณีในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระมารดาเลี้ยงและเพื่อแสดงว่าทรงมีพระมหากรุณาต่อเจ้าหญิงน้อยดุจพระมารดาแท้ ๆ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด คือเจ้าหญิงพระองค์น้อยได้สิ้นพระชนม์จากการถูกบีบรัดในวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งพระนางบูเช็กเทียนได้กล่างหาพระจักรพรรดินีหวางว่าเป็นสาเหตตุที่พระราชธิดาน้อยสิ้นพระชนม์ ข้อกล่าวหาในครั้งนี้พระจักรพรรดินีหวางไม่อาจแก้ตัวใด ๆ ได้ เนื่องจากพระนางเป็นผู้ที่อยู่กับเจ้าหญิงน้อยเป็นพระองค์สุดท้ายก่อนที่เจ้าหญิงน้อยจะสิ้นพระชนม์ นับว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีหวางทรงชักศึกเข้าบ้านโดยแท้
สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงทรงเชื่อในข้อกล่าวหาว่าพระจักรพรรดินีหวางเป็นผู้ปลงพระชมน์พระธิดาองค์น้อยเนื่องจากความอิจฉาริษยา โดยจักรพรรดินีหวางก็ไม่อาจหาหลักฐานใด ๆ มาแก้ข้อกล่าวหานี้ได้ จักรพรรดิเกาจงจึงทรงพระพิโรธและรับสั่งให้ขับไล่จักรพรรดินีหวางออกจากราชสำนัก โดยแต่งตั้งพระนางบูเช็กเทียนขึ้นเป็นพระจักรพรรดินีแทน แต่หากพระองค์ต้องการให้คณะเสนาบดีเห็นชอบกับรับสั่งในครั้งนี้ด้วย จักรพรรดิเกาจงพร้อมด้วยพระนางบูเช็กเทียนจึงได้เสด็จไปเยี่ยมบ้านของพระปิตุลา คือ ฉางซุนอู๋จี้ (Zhangsun Wuji) ผู้เป็นผู้นำเหล่าเสนาบดี เพื่อพระราชทานทรัพย์สมบัติให้แก่ฉางซุนอู๋จี้เป็นอันมาก และเมื่อจักรพรรดิเกาจงทรงนำเรื่องที่จักรพรรดินีหวางไม่มีพระโอรสพระธิดาให้แก่พระองค์มาเป็นข้ออ้างในการขับไล่พระนาง ฉางซุนอู๋จี้ก็บ่ายเบี่ยงที่จะตอนสนองพระราชดำรัสนั้น ต่อมาพระมารดาของพระนางบูเช็กเทียน เลดี้หยาง พร้อมทั้งซูจิงจง (Xu Jingzong) ผู้เป็นฝ่ายเดียวกับพระนางบูเช็กเทียนได้เยี่ยมฉางซุนอู๋จี้อีกครั้งเพื่อให้ขอเขาสนับสนุนการตัดสินพระทัยของจักรพรรดิเกาจง แต่ก็ยังไม่เป็นผล
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจักรพรรดินีหวางหรือพระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้ทำร้ายพระธิดาหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันได้ว่าพระธิดาทรงสิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใดแน่ มีความเป็นไปได้ว่าพระนางบูเช็กเทียนอาจเป็นผู้สังหารพระธิดาของพระนางเองเพื่อใส่ร้ายแก่พระจักรพรรดินีหวาง แต่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าพระจักรพรรดินีหวางเป็นผู้สังหารพระธิดาเองเนื่องจากความอิจฉาริษยาที่จักรพรรดิเกาจงทรงโปรดปรานพระนางบูเช็กเทียนมาก หรืออาจไม่มีผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายพระธิดา แต่ทรงสิ้นพระชมน์จากการสาเหตุธรรมชาติอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการทารกตายกะทันหัน (asphyxiation) อาหารเป็นพิษ สำลักอาหาร เป็นต้น

ถอดพระยศสมเด็จพระจักรพรรดินีหวางและพระมเหสีเซียว

ช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 655 พระนางบูเช็กเทียนได้ใส่ร้ายแก่จักรพรรดินีหวางและพระมารดาของพระนาง เลดี้หลิว อีกครั้งว่าทั้งสองพระองค์ใช้คาถาอาคมไสยศาสตร์ (witchcraft) สมเด็จพระจักรพรรดิเกาสงจึงมีรับสั่งให้ห้ามแลดี้หลิวเข้าวังอีกต่อไป และยังปลด หลิวซื่อ (Liu Shi) พระปิตุลาของจักรพรรดินีหวางด้วย ในขณะเดียวกันเหล่าข้าราชการในราชสำนักก็เริ่มเข้าเป็นพวกกับพระนางบูเช็กเทียนมากขึ้น มีทั้ง ซู จิงจง (Xu Jingzong) หลี่ ยีฟู (Li Yifu) ซุย อี้สวน (อังกฤษ: Cui Yixuan; จีน: 崔義玄; พินอิน: Cuī Yìxuán) และหยวน กงหยู๋ (อังกฤษ: Yuan Gongyu ; จีน: 袁公瑜; พินอิน: Yuán gōngyú)
เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงในปีนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงทรงเรียกคณะเสนาบดี อันมีอัครมหาเสนาบดีฉางซุนอู๋จี้ และเสนาบดีหลี่จี (Li Ji) หยู๋ จือหนิง (Yu Zhining) และ ฉู่ ซุ่ยเหลียง (Chu Suiliang) เข้าประชุม โดยฉู่ซุ่ยเหลียงคาดเดาไว้ว่าจะเป็นเรื่องการถอดพระยศสมเด็จพระจักรพรรดินีหวาง หลี่จีปฏิเสธการเข้าร่วมโดยอ้างอาการป่วย ในที่ประชุม ฉู่ซุ่ยเหลียงนั้นทักท้วงการถอดพระยศครั้งนี้อย่างรุนแรง ในขณะที่ฉางซุนอู๋จี้ และหยู๋จือหนิง นั้นไม่เห็นด้วยกับจักรพรรดิเกาจงด้วยการไม่แสดงความเห็น ในขณะเดียวกัน ฮานหยวน (Han Yuan) และ ไหลจี (Lai Ji) ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการถอดพระยศนี้ ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงทรงสอบถามไปยังหลี่จีอีกครั้งหนึ่ง โดยหลี่จีตอบว่า "สิ่งนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัวของพระองค์เอง ใยจึงถามบุคคลภายนอก (This is your family matter, Your Imperial Majesty. Why ask anyone else?)" เมื่อได้ยินดังนั้น จักรพรรดิเกาจงจึงได้ข้อสรุปที่จะทำตามพระประสงค์ของพระองค์เอง และทรงปลดเสนาบดีฉู่ซุ่ยเหลียงจากราชสำนัก ไปเป็นผู้ปกครองเมืองที่ Tan Prefecture (ปัจจุบันคือบริเวณฉางชาในมณฑลหูหนาน)เมื่อทรงถอดพระยศจักรพรรดินีหวางลงเป็นสามัญชน ให้เรียกว่านางไพร่หวาง (王氏) และพระมเหสีเซียวก็โปรดให้ถอดยศลงเป็นนางไพร่เซียว (宵氏) แล้ว ทรงยังสั่งให้คุมขังนางทังสองไว้ แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้แต่งตั้งพระนางบูเช็กเทียนขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแทน ภายหลังต่อมาจักรพรรดินีบูเช็กเทียนก็สั่งให้สังหารนางไพร่หวางและนางไพร่เซียวเสมือนถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายและเงียบเชียบเนื่องจากทรงเห็นว่าจักรพรรดิเกาจงมีพระราชปรารภให้ปล่อยตัวนางทั้งสอง โดยต่อมาพระนางบูเช็กเทียนก็ฝันร้ายว่าถูกหลอกหลอนโดยนางทั้งสองอยู่หลายครั้ง

ขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินี

ต่อมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 655 พระนางบูเช็กเทียนได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี หรือ หฺวังโฮ่ว (ตามสำเนียงจีนกลาง) หรือ ฮองเฮา (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) (huanghou หรือ "wife" หรือ "empress consort")

แต่งตั้งรัชทายาทพระองค์ใหม่

ปี ค.ศ. 656 ด้วยคำแนะนำของซูจิงจง สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงทรงถอดพระยศพระโอรสที่ประสูติจากพระสนมหลิว คือ เจ้าชายหลี่จง จากตำแหน่งองค์รัชทายาทไปเป็นเจ้าชายแห่งเหลียง (Prince of Liang) แลัวแต่งตั้งให้หลี่หง พระโอรสอันเกิดจากพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าชายแห่งไต๊ (Prince of Dai) ขึ้นเป็นองค์รัชทายาท (Heir Apparent) แทน

เริ่มกำจัดเสนาบดีฝ่ายตรงข้าม

ในปี ค.ศ. 657 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนพวกพ้องของพระนางในราชสำนักได้เริ่มตอบโต้กับเหล่าข้าราชการและเสนาบดีที่เคยต่อต้านเมื่อครั้งที่พระนางขึ้นสู่อำนาจ โดยทรงเริ่มจากให้ซูจิงจงและหลี่ยีฟูผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีแล้วในเวลานั้น ใส่ร้ายกล่าวหาฮานหยวนและไหลจีว่าคบคิดกับฉู่ซุ่ยเหลียงในการก่อกบฏ ทั้งสามคนนี้ รวมทั้งหลิวซื่อ ถูกลดตำแหน่งไปเป็นเจ้าเมืองในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังถูกห้ามไม่ให้กลับมายังเมืองหลวงฉางอันอีกต่อไป และในปี ค.ศ. 659 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนรับสั่งให้ซูจิงจงกล่าวหาฉางซุนอู๋จี้ว่าวางแผนก่อการกบฏร่วมกับข้าราชการชั้นผู้น้อยชื่อ เว่ยจี้ฟาง (อังกฤษ: Wei Jifang; จีน: 韋季方; พินอิน: Wéijìfāng) และหลี่เฉา (อังกฤษ: Li Chao; จีน: 李巢; พินอิน: Lǐ cháo) ทำให้ฉางซุนอู๋จี้ถูกเนรเทศและต่อมาในปีเดียวกันถูกกดดันให้ฆ่าตัวตายในระหว่างที่ถูกเนรเทศนั้นในท้ายที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นซูจิงจงยังได้สร้างเรื่องเพื่อป้ายสีแก่ฉู่ซุ่ยเหลียง หลิวซื่อ ฮานหยวน หยู๋จือหนิง ทำให้ฉู่ซุ่ยเหลียงผู้ซี่งเสียชีวิตไปแล้วในปี ค.ศ. 658 ถูกยึดตำแหน่งทั้งหมดหลังจากเสียชีวิตแล้ว และทำให้บุตรชายทั้งสองของเขา คือ ฉู่ย่านฝู่ (อังกฤษ: Chu Yanfu; จีน: 褚彥甫; พินอิน: Chǔ yànfǔ) และฉู่ย่านชง (อังกฤษ: Chu Yanchong; จีน: 褚彥沖; พินอิน: Chǔ yànchōng) ต้องถูกประหารด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้ประหารชีวิตหลิวซื่อ และฮานหยวนด้วยเช่นกัน โดยฮานหยวนนั้นได้เสียชีวิตลงก่อนที่คำสั่งประหารจะไปถึงเขา หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่มีผู้ใดในราชสำนักกล้าต่อต้านและวิพากย์วิจารณ์สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนอีกต่อไป

การเนรเทศเจ้าชายหลี่จง

ในปี ค.ศ. 660 เจ้าชายหลี่จง พระราชโอรสพระองค์แรกของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง (อังกฤษ: Li Zhi; จีน: 李治) (กับพระสนมหลิว) ซึ่งเจ้าชายหลี่จงทรงเกรงกลัวว่าพระองค์จะทรงเป็นเป้าหมายในการกำจัดเช่นเดียวกัน โดยพระนางบูเช็กเทียนได้ให้เนรเทศเจ้าชายออกจากราชสำนักและถูกกักบริเวณไว้

อาการพระประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง

ในปี ค.ศ. 660 สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงและจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้เสด็จไปยังบริเวณเบียน (Bian Prefecture; ปัจจุบันคือ ไท่หยวน (Taiyuan)) ซึ่งในครั้งนี้พระนางบูเช็กเทียนมีโอกาสได้เชิญเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องเข้าร่วมงานฉลองของราชสำนักด้วย ปลายปีนั้นจักรพรรดิเกาจงทรงเริ่มมีอาการพระประชวรมากขึ้น โดยทรงมีอาการปวดพระเศียรอย่างหนักและสูญเสียการมองเห็นด้วย โดยคาดว่าเกิดจากโรคความดันสูง (hypertension-related)หากนักประวัติศาสตร์บางคนมีความเห็นว่าอาการพระประชวรนั้นเป็นผลจากการที่พระนางบูเช็กเทียนพยายามลอบวางยาพิษแก่สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทีละน้อยดังนั้นพระองค์จึงเริ่มให้จักรพรรดินีบูเช็กเทียนออกว่าราชการแทนมากขึ้น ทั้งนี้พระนางก็ได้แสดงความสามารถและสติปัญญาทั้งในด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบริหารราชการอย่างถูกต้อง จนพระนางสามารถรวบอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงมาได้ทั้งหมด

ความพยายามขับไล่สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน

กล่าวกันว่าในปี ค.ศ. 664 สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้เข้าแทรกแซงการบริหารราชการในราชสำนักมากขึ้นจนทำให้จักรพรรดิเกาจงไม่พอพระทัย นอกจากนั้นพระนางยังได้ให้กัวสิงเจิน (อังกฤษ: Guo Xingzhen; จีน: 郭行真; พินอิน:Guōxíngzhēn) ผู้เป็นหมอผีลัทธิเต๋ามาทำพิธีคาถาอาคม ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในราชสำนัก อันเคยเป็นสาเหตุให้อดีตพระอัครมเหสีหวางถูกปลดและขับไล่ออกจากราชสำนักไป ขันทีหวังฝูเชิ่ง (อังกฤษ:Wang Fusheng; จีน: 王伏勝 ; พินอิน: Wángfúshèng) จึงได้รายงานแก่จักรพรรดิเกาจงให้ทรงทราบ ยิ่งทำให้พระองค์ไม่พอพระทัยมากยิ่งขึ้น พระองค์จึงได้ปรึกษากับเสนาบดีซั่งกวนอี๋ (อังกฤษ: Shangguan Yi; จีน: 上官儀; พินอิน: Shàngguān Yí) ซึ่งได้แนะนำให้จักรพรรดิเกาจงทรงปลดจักรพรรดินีบูเช็กเทียนและขับไล่จากราชสำนักเสีย พระองค์จึงมีรับสั่งให้ซั่งกวนร่างพระบัญชาขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นจักรพรรดินีบูเช็กเทียนก็ได้รับข่าวการขับไล่พระองค์ พระนางจึงเสด็จเข้าเฝ้าจักรพรรดิเกาจงเพื่ออ้อนวอนขอให้พระองค์พระราชทานอภัยโทษ ทำให้จักรพรรดิเกาจงทรงพระทัยอ่อนลงและกล่าวหาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคำแนะนำจากซั่งกวนอี๋
เนื่องจากทั้งซั่งกวนอี๋ และหวังฝูเชิ่ง ต่างก็เป็นผู้ที่ทำงานให้กับเจ้าชายหลี่จง พระนางบูเช็กเทียนจึงสั่งให้ซูจิงจงวางแผนใส่ร้ายบุคคลทั้งสาม คือ เจ้าชายหลี่จง ซั่งกวนอี๋ และหวังฝูเชิ่งว่าก่อการกบฏ ทำให้ซั่งกวนอี๋ หวังฝูเชิ่ง และบุตรชายของซั่งกวนอี๋ คือ ซั่งกวนถิงจื้อ (อังกฤษ: Shangguan Tingzhi; จีน: 上官庭芝; พินอิน: Shàngguān tíng zhī) ถูกลงโทษประหารชีวิต ในขณะที่เจ้าชายหลี่จงนั้นก็ถูกกดดันให้ทรงฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา ส่วนภรรยาของซั่งกวนถิงจื้อและบุตรสาว คือ ซั่งกวนหว่านเอ๋อ (อังกฤษ: Shangguan Wan'er; จีน: 上官婉兒; พินอิน: Shàngguān wǎn er) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทารกอยู่ถูกจับมาเป็นทาสรับใช้ในราชสำนัก (ต่อมาเมื่อซั่งกวนหว่านเอ๋อโตขึ้น นางได้รับความไว้วางใจจนได้เป็นราชเลขาส่วนพระองค์ในพระนางบูเช็กเทียน ต่อมาเมื่อองค์รัชทายาทหลี่เสียน ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาเป็นจักรพรรดิถังจงจง ซั่งกวนหว่านเอ๋อจึงได้เป็นพระสนมในพระองค์)
หลังจากนั้น สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงนั่งว่าราชการหลังม่านด้านหลังขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง ทำให้ทั้งสองพระองค์นั้นได้รับการเรียกขานจากประชาชนว่า "2 ธีรราช" หรือ "ผู้วิเศษคู่" (อังกฤษ: Er Sheng หรือ "Two Holy Ones"; จีนตัวเต็ม: 二聖; พินอิน: Èr shèng) สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงมีพระราชโองการให้ออกพระนามพระองค์ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งสวรรค์ (天皇) ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีบูนั้นให้ออกพระนามในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งสวรรค์ (天后) เช่นเดียวกัน

ความร้าวฉานในตระกูลอู่

ในช่วงเวลาที่จักรพรรดิบูเช็กเทียนสำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น พระนางได้แต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ให้แก่ญาติของพระนางหลายคน เช่น เลดี้หยาง (มารดาของจักรพรรดิบูเช็กเทียน) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสุภาพสตรีแห่งหรง (Lady of Rong) และพี่สาวผู้เป็นหม้ายของพระนางก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสุภาพสตรีแห่งฮั่น (Lady of Han) ด้วย ส่วนพี่ชาย คือ อู่ หยวนชิง และ อู่ หยวนซวง พร้อมทั้งลูกพี่ลูกน้อง คือ อู่ เว่ยเหลียง และ อู่ ฮ่วยยุ่น ซึ่งแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะดีนักกับเลดี้หยาง แต่ต่างก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งด้วย อย่างไรก็ตาม ในงานเลี้ยงฉลองที่เลดี้หยางจัดขึ้นให้แก่พวกเขาเพื่อฉลองการรับตำแหน่งใหม่ อู่ เว่ยเหลียง แสดงอาการโกรธเลดี้หยางและกล่าวว่าพวกเขามิได้รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติในการได้รับตำแหน่งใหม่นี้จากสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเลย จักรพรรดิบูเช็กเทียนจึงมีรับสั่งให้ลดตำแหน่งญาติเหล่านี้และขับไล่ไปยังพื้นที่กันดารห่างไกลเพื่อเป็นการแก้แค้นที่กระทำไม่ดีกับมารดาของพระนาง โดย อู่ หยวนชิง และ อู่ หยวนซวง เสียชีวิตในระหว่างการเนรเทศ
ในปี (หรือก่อนปี) ค.ศ. 666 พี่สาวหม้ายของจักรพรรดิบูเช็กเทียน หรือสุภาพสตรีแห่งฮั่น เสียชีวิตลงเช่นกัน สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงจึงทรงแต่งตั้งให้บุตรีของนางเป็นสุภาพสตรีแห่งเว่ย (Lady of Wei) และอนุญาตให้พำนักอยู่ในราชสำนักต่อไปได้ (คาดว่าในฐานะนางสนม) แต่การแต่งตั้งนี้มิได้กระทำในทันทีหลังจากมารดาของนางเสียชีวิตลง ด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงหวั่นเกรงว่าพระนางบูเช็กเทียนจักไม่พอพระทัย หากคาดว่าพระนางบูเช็กเทียนทรงทราบเรื่องนี้จึงวางอุบายใส่ยาพิษลงในอาหารที่นำมาถวายโดย อู่ เว่ยเหลียง และ อู่ ฮ่วยยุ่น แก่สุภาพสตรีแห่งเว่ย แล้วใส่ร้ายความผิดให้แก่คนทั้งสอง ทำให้ อู่ เว่ยเหลียง และ อู่ ฮ่วยยุ่น ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา

มารดาของพระนางบูเช็กเทียนเสียชีวิต

ในปี ค.ศ. 670 มารดาของพระนางบูเช็กเทียน คือ เลดี้หยาง ได้เสียชีวิตลง ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงทรงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารในราชสำนักและภริยาทุกคนเข้าร่วมพิธีเคารพศพของนาง ต่อมาในปีเดียวกันนั้น ราชอาณาจักรถูกภัยพิบัติจากความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก จักรพรรดินีบูเช็กเทียนจึงขอให้ยกเลิกพิธีนั้นเสีย แต่องค์จักรพรรดิทรงปฏิเสธและยังแต่งตั้งให้บิดาของพระนางคือ อู่ ซึ่อฮั่ว (ผู้ที่ได้รับยศหลังจากเสียชีวิตแล้วเป็นดยุคแห่งโจว (Duke of Zhou)) และเลดี้หยาง มียศใหม่หลังจากเสียชีวิตแล้วเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งไท่หยวน (Prince and Princess of Taiyuan)

ความร้าวฉานในตระกูลอู่ครั้งใหม่

ต่อมาหลานของจักรพรรดินีบูเช็กเทียนผู้เป็นบุตรของพี่สาวหม้ายของพระองค์ คือ สุภาพสตรีแห่งฮั่น ชื่อ เฮ่อหลานมิ๋นจือ (อังกฤษ: Helan Minzhi; จีน: 賀蘭敏之; พินอิน: Hèlán mǐnzhī) ได้รับพระราชานุญาตให้ใช้สกุลอู่และสืบทอดตำแหน่งดยุกแห่งโจว แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเฮ่อหลานมิ๋นจือนันกำลังสงสัยในตัวพระนางบูเช็กเทียนว่าเป็นผู้มีส่วนในการฆาตกรรมพี่สาวของเขา พระนางบูเช็กเทียนจึงได้เพิ่มความระมัดระวังในตัวเฮ่อหลานมิ๋นจือ นอกจากนั้นยังมีผู้กล่าวว่าเฮ่อหลานมิ๋นจือนั้นเคยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับยายของเขาเอง คือเลดี้หยางอีกด้วย ในปี ค.ศ. 671 เฮ่อหลานมิ๋นจือถูกกล่าวหาว่าไม่ประพฤติตามกฎระเบียบการไว้ทุกข์ในระหว่างพิธีไว้ทุกข์ของเลดี้หยาง และยังถูกกล่าวหาว่าได้ข่มขืนบุตรีของข้าราชการที่ชื่อ หยางซือเจี่ยน (อังกฤษ: Yang Sijian ; จีน: 楊思儉; พินอิน: Yángsījiǎn) ซึ่งเป็นสตรีที่สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงและสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้คัดเลือกให้เป็นมเหสีของเจ้าชายหลี่หง ผู้เป็นองค์รัชทายาท เฮ่อหลานมิ๋นจือจึงได้รับโทษโดยการถูกเนรเทศ ซึ่งต่อมาเขาได้เสียชีวิตลงโดยมิอาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นการเสียชีวิตในระหว่างการเนรเทศหรือเป็นการฆ่าตัวตาย
ในปี ค.ศ. 674 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้ทรงเรียก อู่ เฉิงซื่อ (อังกฤษ: Wu Chengsi; จีน: 武承嗣; พินอิน: Wǔ Chéngsì; เสียชีวิตเมือวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 698) พระนัดดาของพระนางผู้เป็นบุตรของอู่ หยวนซวงกลับมาจากการถูกเนรเทศและให้รับตำแหน่งดยุกแห่งโจวสืบต่อด้วย

ต่อต้านการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ

นปี ค.ศ. 675 พระอาการประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงหนักขึ้น พระองค์จึงมีพระราชปรารภให้แต่งตั้งจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เสนาบดีฮ่าวฉู้จิ้น (อังกฤษ: Hao Chujun; จีน: 郝處俊; พินอิน: Hǎochùjùn; ค.ศ. 607–681) และข้าราชการชื่อ หลีอี้หย่าน (อังกฤษ: Li Yiyan; จีน: 李義琰; พินอิน: Lǐyìyǎn; เสียชีวิตในปี ค.ศ. 688) คัดค้านพระองค์ในเรื่องนี้ จักรพรรดิเกาจงจึงยังมิได้แต่งตั้งจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

กำจัดคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง

ต่อเนื่องในปี ค.ศ. 675 มีผู้คนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของความกริ้วโกรธของจักรพรรดินีบูเช็กเทียน
พระปิตุจฉาของสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจง คือ เจ้าหญิงฉางเล่อ (ภริยานายพล จ้าวกุย (อังกฤษ: Zhao Gui; จีน: 趙瓌; พินอิน: Zhào guī) และพระธิดาของพระองค์ได้เสกสมรสกับเจ้าชายหลี่เสียน หรือ เจ้าชายแห่งโจว (Prince of Zhou) พระโอรสองค์ที่สามในพระนางบูเช็กเทียน) ทรงไม่พอพระทัยในตัวจักรพรรดินีบูเช็กเทียนด้วยทรงเห็นว่าสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงให้ความโปรดปรานในตัวพระนางเป็นอันมาก เจ้าหญิงจ้าว พระธิดาจึงถูกกล่าวหาด้วยข้อหาอาชญากรรมที่พระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและถูกจับกุมในที่สุด ต่อมาเจ้าหญิงจ้าวได้สิ้นพระชมน์ด้วยอาการขาดอาหาร ส่วนนายพลจ้าวกุยและเจ้าหญิงฉางเล่อก็ถูกเนรเทศด้วย
ในปลายเดือนนั้นเอง เจ้าชายหลี่หง องค์รัชทายาท ผู้พยายามร้องขอมิให้พระนางบูเช็กเทียนใช้อิทธิพลเหนือการบริหารราชการของจักรพรรดิเกาจง  เพราะพระองค์ก็ทรงมีความคิดเช่นเดียวกับผู้คนในยุคสมัยเดียวกันว่าพระชนนีหรือพระนางบูเช็กเทียนนั้นเป็นเพียงอิสตรี จึงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราชการแผ่นดินมากนัก โดยเฉพาะเมื่อพระนางบูเช็กเทียนผู้ซึ่งแทบจะทรงว่าราชการแทนจักรพรรดิเกาจงทั้งหมดอยู่แล้วนั้น เจ้าชายหลี่หงองค์รัชทายาทยิ่งมิอาจจะทรงรับได้ พระองค์จึงทรงกราบทูลแก่พระราชบิดา สมเด็จพระจักรพรรดิเกาจง ว่าจะทรงวางแผนยึดอำนาจจากพระนางบูเช็กเทียน โดยให้ออกพระราชโองการข้อความว่าจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงใส่ร้ายอดีตจักรพรรดินีหวาง และให้คืนศักดิ์ฐานะให้แก่อดีตจักรพรรดินีหวางและอดีตพระมเหสีเซียวผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย พร้อมกับทรงเรียกร้องให้ปล่อยตัวน้องสาวต่างมารดาของพระองค์ คือ เจ้าหญิงอี้หยาง (ธิดาในพระสนมเซียว) และซ่วนเฉิง ซึ่งขณะนั้นถูกกักบริเวณอยู่
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้วางยาพิษแก่เจ้าชายหลี่หง ทำให้เจ้าชายหลี่เสียนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าชายแห่งย่ง (Prince of Yong) และได้ขึ้นเป็นองค์รัชทายาทแทนนอกจากนั้นเจ้าชายหลี่ซู่เจี๋ย พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระสนมเซียว และเจ้าชายหลี่ซ่างจิน (อังกฤษ: Li Shangjin; จีน: 李上金; พินอิน: Lǐshàngjīn) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของจักรพรรดิเกาจง ทั้งสองพระองค์ก็ถูกพระนางบูเช็กเทียนใส่ร้ายว่าก่ออาชญากรรมและถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน

การเนรเทศเจ้าชายหลี่เสียนพระราชโอรส

เจ้าชายหลี่เสียนนั้นทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถไม่ด้อยไปกว่าเจ้าชายหลี่หงพระเชษฐาธิราชเลย โดยเฉพาะในด้านอักษรศาสตร์ เช่น พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพงศาวดารตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาชุดหนึ่งที่ยังคงได้รับการยอมรับจากวงการประวัติศาสตร์จีนในปัจจุบันว่ามีความน่าเชื่อถืออ้างอิงได้มากที่สุดฉบับหบึ่งทีเดียว จึงนับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์พระองค์หนึ่ง หากแต่จุดจบของพระองค์ก็ไม่ต่างจากพระเชษฐาเท่าไรนัก เรื่องที่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในเวลาต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดินีบูเช็กเทียนกับพระราชโอรส เจ้าชายหลี่เสียน นั้นไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเจ้าชายหลี่เสียนทรงหวั่นเกรงพระทัยเมื่อทรงได้ยินข่าวลือว่าพระองค์เองมิได้เป็นพระโอรสของพระนางบูเช็กเทียน แต่กลับเป็นพระโอรสในสุภาพสตรีแห่งฮั่น พระขนิษฐาของพระนางบูเช็กเทียน เมื่อพระนางทรงทราบว่าเจ้าชายหลี่เสียนทรงเกิดความเกรงกลัวขึ้นจากข่าวลือนี้ พระนางทรงไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หมิงสงเอี๋ยน (อังกฤษ: Ming Chongyan; จีน: 明崇儼) ผู้เป็นหมอดูหรือโหรคนโปรดซึ่งเป็นพระสหายที่ร่วมต่อสู้ในเกมช่วงชิงอำนาจ และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระนางบูเช็กเทียนขึ้นมากุมอำนาจในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดินี (ผู้เคยกราบทูลแก่จักพรรดิเกาจงและจักรพรรดินีบูเช็กเทียนว่าเจ้าชายหลี่เสียนนั้นไม่เหมาะจะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์) ได้ถูกลอบสังหารลงในปี ค.ศ. 679 พระนางบูเช็กเทียนก็ยื่งระแวงในตัวเจ้าชายหลี่เสียนมากขึ้นเนื่องจากทรงสงสัยว่าเจ้าชายจะเป็นต้นเหตุแห่งการลอบสังหารนี้
ต่อมาในปี ค.ศ. 680 ระหว่างที่เจ้าหน้าที่สืบสวน คือ เซียวหยวนเชา (อังกฤษ: Xue Yuanchao; จีน: 薛元超; พินอิน: Xuēyuánchāo; 622–683), เผยหยาน (อังกฤษ: Pei Yan; จีน: 裴炎; พินอิน: Péi yán) และ เกาจื่อโจว (อังกฤษ: อังกฤษ:Gao Zhizhou; จีน: 高智周; พินอิน: Gāozhì zhōu) สืบสวนเรื่องนี้นั้น ได้ค้นเจออาวุธจำนวนมากในวังของเจ้าชายหลี่เสียน องค์รัชทายาท พระนางบูเช็กเทียนจึงมีพระราชโองการว่าองค์รัชทายาทคิดก่อการกบฏและเป็นผู้สังหารหมิงสงเอี๋ยน จึงทรงให้ถอดถอนจากตำแหน่งรัชทายาทลงเป็นสามัญชน แล้วให้เนรเทศไปถึงเมืองเฉิงตู ดินแดนเสฉวนอันห่างไกล ภายหลังหลี่เสียนทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเองโดยการผูกคอตายที่เมืองเฉิงตูนั้น ซึ่งมีเสียงเล่าลือดังขึ้นว่าพระนางบูเช็กเทียนองค์จักรพรรดินีและพระมารดาน่นเป็นผู้พระราชทานแพรขาวให้แก่พระราชโอรส เพื่อบีบบังคับให้ผูกคอตายเอง

รัชทายาทพระองค์ใหม่

หลังจากการเนรเทศเจ้าชายหลี่เสียน (อังกฤษ: Li Xian; จีน: 李賢; พินอิน: Li Xián; ค.ศ. 653–684) เจ้าชายหลี่เสี่ยน (อังกฤษ: Li Zian; จีน: 李顯; พินอิน: Lǐ xiǎn; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 656 – 3 กรกฎาคม ค.ศ. 710) ผู้ซึงภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น หลี่เจ๋อ (อังกฤษ: Li Zhe; จีน: 李哲; พินอิน: Lǐ zhé) ได้รับพระราชทานตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแทนเจ้าชายหลี่เสียน แลภายหลังได้ทรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ถัง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจงจง (อังกฤษ: Emperor Zhongzong of Tang; จีน: 唐中宗; พินอิน: Tángzhōngzōng) ทรงครองราชย์ในระยะเวลาสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 684 และอีกครั้งตังแต่ปี ค.ศ. 705 ถึงปี ค.ศ. 710

องค์หญิงไท่ผิง[แก้]

ในปี ค.ศ. 681 องค์หญิงไท่ผิง (อังกฤษ: Princess Taiping; จีน: 太平公主; พินอิน: Tàipíng Gōngzhǔ, แปลตามตัวอักษรว่า "เจ้าหญิงแห่งสันติสุข") พระชนิษฐาในเจ้าชายหลี่เจ๋อ หรือจักรพรรดิถังจงจง ได้ทรงอภิเษกสมรสกับเซียวส่าว(อังกฤษ: Xue Shao; จีน: 薛紹; พินอิน: Xuē shào) บุตรของเจ้าหญิงเฉิงหยาง พระขนิฐาของสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจง
จักรพรรดินีบูเช็กเทียนนั้นเมื่อแรกทรงมีความประทับใจในเชื้อสายวงศ์ตระกูลของภริยาของพี่ชายเซียวส่าว คือ เซียวหยี่ (อังกฤษ: Xue Yi; จีน: 薛顗; พินอิน: Xuē yǐ) มาก จนมีพระราชดำริให้พระเชษฐาของพระนางหย่าจากภริยาแล้วให้มาแต่งงานกับเซียวหยี่แทน ต่อมาพระนางทรงยกเลิกความคิดนี้เมื่อทรงได้ทราบว่าเซียวหยี่ผู้เป็นหลานสาวของอดีตเสนาบดีเสี่ยวหยู๋ (Xiao Yu)

การสวรรคตของจักรพรรดิถังเกาจง

ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง พระองค์และจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงมักเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่เมืองหลวงทางตะวันออก คือ เมืองลกเอี๋ยง เป็นเวลานาน ทำให้พระองค์มักไม่ค่อยประทับที่อยู่ในเมืองฉางอานเท่าใดนัก
ปลายปี ค.ศ. 683 จักรพรรดิเกาจงสิ้นพระชมน์ลงในขณะที่ประทับอยู่ในเมืองลั่วหยาง (Luoyang) เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจงนั้นเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงนัก พระนางบูเช็กเทียนจึงเป็นผู้ดูแลการบริหารงานภารกิจของราชสำนักอยู่เบื้องหลังพระองค์ในช่วงเวลาตลอด 20 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ [36]
เจ้าชายหลี่เจ๋อ (อังกฤษ: Li Zhe; จีน: 李哲; พินอิน: Lǐ zhé; ค.ศ. 656–710) หรือพระนามเดิม หลี่เสี่ยน (จีน: 李顯; พินอิน: Lǐ xiǎn) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังจงจง (อังกฤษ: Emperor Zhongzong of Tang; จีน: 唐中宗; พินอิน: Táng zhōng zōng)   สืบต่อจากจักรพรรดิถังเกาจง แต่ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการที่แท้จริงคือพระนางบูเช็กเทียนซึ่งทรงดำรงตำแหน่งอยู่ในฐานะ "พระพันปี" หรือ "หฺวังไท่โฮ่ว" ตามสำเนียงกลาง หรือ "ฮองไทเฮา" ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (อังกฤษ: empress dowager; จีน: 皇太后; พินอิน: húangtàihòu) และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[3

ตำรงตำแหน่งพระพันปีหรือฮองไทเฮา และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[

หลังจากที่พระสวามี สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงทรงสิ้นพระชมน์ลง พระนางบูเช็กเทียนทรงดำรงตำแหน่งพระพันปี (หรือฮองไทเฮา) และยังเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระนางได้มีรับสั้งให้วางยาพิษพระราชโอรสหลี่หง (อังกฤษ: Li Hong; จีน: 李弘; พินอิน: Lǐ hóng; ค.ศ. 652 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 675) ผู้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และทรงให้เนรเทศพระราชโอรสองค์อื่นๆ เพื่อให้พระโอรสองค์ที่สามของพระนาง คือ เจ้าชายหลี่เจ้อ ได้เป็นรัชทายาทแทน นอกจากนี้พินัยกรรมของจักรพรรดิเกาจงยังได้ระบุไว้ให้พระโอรสคือเจ้าชายหลี่เจ้อเป็นผู้สืบทอดพระราชบังลังก์ต่อจากพระองค์ โดยให้มีพระนางบูเช็กเทียนเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ในราชการสำคัญต่างๆ ทั้งด้านการทหารและกิจการพลเรือน

รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังจงจง

ในเดือนที่สองของปี ค.ศ. 684 เจ้าชายหลี่เจ๋อ รัชทายาทและพระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงขึ้นครองราชย์ ออกพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิถังจงจง ด้วยเวลาที่ทรงครองราชย์เพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น (ข้อมูลบางแหล่งแจ้งว่าทรงครองราชย์นานน้อยกว่า 1 ปี)
หลังการขึ้นครองราชย์จักรพรรดิจงจงทรงแสดงออกถึงการไม่เชื่อฟังพระนางบูเช็กเทียนในทันที ด้วยทรงเชื่อพระมเหสีของพระองค์ คือ จักรพรรดินีเว่ย (empress Wei) เป็นอย่างมาก และยังแต่งตั้งให้พระสัสสุระ (พ่อตา) เว่ยส่วนเจิน(อังกฤษ: Wei Xuanzhen; จีนตัวเต็ม: 韋玄貞; พินอิน: Wéixuánzhēn) เป็นอัครมหาเสนาบดี (หรือเทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) นอกจากนั้นพระองค์ยังมีความพยายามแต่งตั้งให้พระสัสสุระของพระองค์เป็นจื้อจง (อังกฤษ:Shizhong; จีนตัวเต็ม: 侍中; พินอิน: Shì zhōng) ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตรวจสอบของราชสำนัก หรือ เหมินเซี่ยเซิ่ง (อังกฤษ: the examination bureau of government หรือ Menxia Sheng; จีนตัวเต็ม: 門下省; พินอิน: Ménxià shěng) และแต่งตั้งให้บุตรชายของแม่นมของพระองค์เป็นข้าราชการในระดับกลาง แม้ว่าเผยหยาน (Pei Yan) จะคัดค้านอย่างรุนแรงก็ตาม และจนถึงจุดหนึ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับเผยหยานไปว่า
จะผิดอะไรแม้ว่าฉันจะให้อาณาจักรทั้งหมดแก่เว่ยส่วนเจิน อย่างนั้นแล้วท่านจะสนใจอะไรกับตำแหน่งจื้อจงล่ะ
เผยหยานจึงได้ถวายรายงานแก่พระนางบูเช็กเทียน ซึ่งขณะนั้นมีพระอิสริยยศเป็นพระพันปี ทำให้พระพันปีบูเช็กเทียนทรงวางแผนกับเผยหยาน หลิวยี่จือ (อังกฤษ: Liu Yizh; จีน: 劉禕之; พินอิน: Liú yī zhī) และเหล่านายพล คือ เฉิงอู้ที่ง(อังกฤษ: Cheng Wuting; จีน: 程務挺; พินอิน:Chéng wùtǐng) และจางเฉียนฉู่ (อังกฤษ: Zhang Qianxu; จีน: 張虔勖; พินอิน: Zhāng qián xù) ปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งและให้พระโอรสองค์สุดท้องของพระนาง คือเจ้าชายหลี่ตั้น (อังกฤษ: Li Dan หรือ Prince of Yu; จีน: 李旦; พินอิน: Lǐ dàn) ขึ้นครองราชย์แทน โดยออกพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรดิถังรุ่ยจง (จีน: 唐睿宗, ค.ศ. 662-716) พระพันปีบูเช็กเทียนทรงตั้งข้อหาแก่พระสัสสุระของจักพรรดิจงจงว่าคิดก่อการกบฏโดยให้จับกุมชังไว้ ส่วนพระจักรพรรดิจงจงนั้น ทรงลดตำแหน่งของพระองค์เหลื่อเป็นเพียงเจ้าชายแห่งลู่หลิง (Prince of Luling) พร้อมทั้งให้ถูกเนรเทศออกไป ในขณะเดียวกันนั้นพระพันปีบูเช็กเทียนยังได้ส่งนายพล ชิวเฉินจี (อังกฤษ: Qiu Shenji; จีน: 丘神勣; พินอิน: Qiū shénjī) ไปยังวังของเจ้าชายหลี่เสียน (Li Xián) ที่อยู่ในระหว่างการเนรเทศและพระราชทานผ้าแพรสีขาวเพื่อให้ทรงทำอัตวิบากกรรม (ฆ่าตัวตาย)

การขึ้นสู่อำนาจเต็ม

รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิถังรุ่ยจง

แม้ว่าพระโอรสองค์สุดท้ายของพระพันปีบูเช็กเทียน เจ้าชายหลี่ตั้น จะทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังรุ่ยจงแล้วก็ตาม พระนางบูเช็กเทียนก็ยังเป็นผู้บริหารราชการที่แท้จริงทั้งในด้านสาระการทำงานและภาพลักษณ์ที่ปรากฏ พระนางมิได้ปรารถนาจะดำเนินตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่จะต้องบริหารงานผ่านหลังม่านโดยการกระซิบบอกกล่าวแก่ผู้ปกครองพระองค์จริงที่จะเป็นผู้มีพระราชดำรัสแจ้งแก่คณะขุนนางอย่างเป็นทางการต่อ จักรพรรดิรุ่งจงทรงมิเคยได้เสด็จประทับในเขตที่ประทับขององค์จักรพรรดิ (imperial quarters) หรือปรากฏกายในงานพระราชพิธีของราชสำนักแม้แต่น้อย แต่กลับถูกกักบริเวณอยู่เพียงที่ประทับฝ่ายในเท่านั้น ข้าราชการในราชสำนักมิเคยได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าจักรพรรดิรุ่ยจงเลยแม้แต่น้อย และพระองค์ก็ไม่ได้รับราชานุญาตจากพระนางบูเช็กเทียนให้ว่าราชการใด ๆ เนื่องจากพระนางเป็นผู้บริหารราชการต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น นอกจากนั้นด้วยคำแนะนำของพระราชนัดดาของพระนาง คือ อู่ เฉิงซื่อ (อังกฤษ: Wu Chengsi; จีน: 武承嗣; พินอิน: Wǔ Chéngsì) พระนางจึงบูชาบรรพบุรุษโดยทรงยกย่องเกียรติภูมิของตระกูลอู๋ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพระนางให้สูงส่งมากขึ้น
ในปี ค.ศ. 686 พระพันปีบูเช็กเทียนได้เสนอที่จะคืนพระราชอำนาจในการบริหารราชการให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิรุ่ยจง แต่จักรพรรดิรุ่ยจงทรงทราบดีว่าพระนางมิได้มีพระราชประสงค์เช่นนั้นโดยแท้ พระองค์จึงทรงปฏิเสธพระพันปีบูเช็กเทียนไป พระนางจึงบริหารราชการแผ่นดินต่อไปแม้ว่าจะทรงอยู่ในฐานะพระพันปี
ในปี ค.ศ. 690 พระนางบูเช็กเทียนทรงบังคับให้จักรพรรดิรุ่ยจงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระนางและตั้งเป็นราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์โจว โดยพระนางบูเช็กเทียนทรงเป็นผู้ครองราชย์บัลลังก์เองในฐานะกษัตริย์ (หวงตี้ หรือ huangdi)
ช่วงต้นของการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนนั้น เริ่มต้นด้วยความหวั่นกลัวของเหล่าข้าราชการในหน่วยสืบสวนลับที่ทรงตั้งขึ้นในระยะเวลาหลายปี อย่างไรก็ตามพระนางก็ได้รับการยอมรับและยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ที่ชื่นชอบพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองที่บริหารราชการด้วยพระปรีชาสามารถและเอาใจใส่ในการบริหารราชการ นอกจากนั้นพระนางยังทรงได้รับการยกย่องในเรื่องการจัดระบบการคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนัก (การสอบขุนนาง) ในตลอดช่วงเวลาของราชวงศ์ถังและส่งผลในราชวงศ์ต่อมาอีกหลายราชวงศ์
15 ปี ต่อมา ในปี ค.ศ. 705 พระนางบูเช็กเทียนทรงถูกทำรัฐประหารโดยอดีตจักรพรรดิถังจงจง หลังการทำรัฐประหารสำเร็จพระองค์ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นอีกครั้ง หากพระนางบูเช็กเทียนก็ยังคงใช้พระอิสริยยศ "จักรพรรดิ" หรือ "หวงตี้" หรือ "emperor" ต่อจนกระทั่งสวรรคตในปีเดียวกันนั้นเอง

การจลาจลในปี ค.ศ. 684

ไม่นานหลังจากนั้น หลี่จิ่งเย่ (อังกฤษ: Li Jingye; จีน: 李敬業; พินอิน: Lǐ jìngyè) หรือดยุกแห่งอิง (อังกฤษ: the Duke of Ying; จีน: 英貞武公; พินอิน: Yīng zhēnwǔ gōng) ผู้เป็นหลานชายของหลี่ซื่อจี (อังกฤษ: Li Shiji; จีน: 李世勣; พินอิน: Lǐshìjī) ซึ่งเขาไม่พอใจที่ตนเองถูกเนรเทศจึงเริ่มก่อการกบฏขึ้นที่หยางโจว (จีน: 揚州; พินอิน: Yángzhōu, หรือในปัจจุบัยคือเมืองหยางโจว ในมณฑลเจียงซู) ในช่วงแรกนั้นได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากผู้คนในถิ่นนั้น แต่หลี่จิ่งเย่ดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า และยังมิได้ใช้ประโยชน์จากมวลชนที่สนับสนุนการกบฏนี้นัก ในขณะเดียวกันนั้นเผยหยานได้กราบทุลเสนอให้พระนางบูเช็กเทียนคืนอำนาจในราชสำนักให้แก่จักรพรรดิรุ่ยจงเสีย โดยกล่าวว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้การก่อการกบฏนั้นยุติลงไปได้เอง ซึ่งสิ่งที่เผยหยานกล่าวมานั้นทำให้พระนางไม่พอพระทัยเป็นอันมาก พระนางจึงตั้งข้อกล่าวหาแก่เผยหยานว่ามีส่วนร่วมรู้เป็นกับหลี่จิ่งเย่และสั่งประหารชีวิตเผยหยานทันที นอกจากนั้นพระนางยังทรงสั่งปลด เนรเทศ และประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ที่พยายามแก้ต่างให้แก่เผยหยานอีกด้วย ต่อจากนั้นพระนางได้ส่งหลี่เสี้ยวอี้ (อังกฤษ: Li Xiaoyi; จีน:李孝逸; พินอิน: Lǐxiàoyì) ไปโจมตีหลี่จิ่งเย่ ซึ่งในครั้งแรกนั้นหลี่เสี้ยวอี้ดำเนินการไม่สำเร็จ จึงให้ผู้ช่วยของเขาคือ เว่ยเหยียนจง (Wei Yuanzhong; จีน: 魏元忠; พินอิน: Wèi yuánzhōng) เข้าโจมตีจนสำเร็จในที่สุด ส่วนหลี่จิ่งเย่นั้นถูกสังหารในระหว่างการต่อสู้นี้เอง

ความสัมพันธ์กับหวายอี้

ในปี ค.ศ. 685 พระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับภิกษุหวายอี้ (อังกฤษ: Huaiyi; จีน: 懷義; พินอิน: Huái yì; เสียชีวิตวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 694[1])  หรือ เซึยวหวายอี้ (อังกฤษ: Xue Huaiyi; จีน: 薛懷義; พินอิน: Xuē huáiyì) ทำให้ในช่วงเวลาหลายปีถัดมานั้นหวายอี้ได้รับความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ[

หน่วยตำรวจสืบค้นข้อมูลลับ

นับตั้งแต่หลี่จิ่งเย่ได้ก่อการกบฏขึ้นนั้น พระนางบูเช็กเทียนมีความหวาดระแวงอยู่เสมอ ไม่ไว้วางพระทัยไม่ว่าจะเป็นราชนิกูล เสนาบดี และเหล่าข้าราชการต่าง ๆ พระนางจึงใช้พระราชอำนาจกำจัดบุคคลที่ทรงไม่ไว้วางใจเหล่านั้นด้วยความเด็ดขาดและเหี้ยมโหด
ในปี ค.ศ. 686 ได้มีการออกแบบประดิษฐ์กล่องทองแดงสำหรับเก็บจดหมายที่ประชาชนส่งเข้ามาแจ้งเรื่องที่เปิดโปงความลับต่าง ๆ กล่องนี้ถูกออกแบบขึ้นโดยชายผู้หนึ่ง ชื่อ อวี๋เป่าเจีย กล่องทองแดงนี้ถูกออกแบบให้มีช่องจำนวน 4 ช่อง สำหรับแยกเก็บจดหมายเปิดโปงความลับในด้านต่าง ๆ โดยเมื่อมีผู้ใส่จดหมายลงในกล่องนี้แล้วจะไม่สามารถหยิบออกได้อีก พระนางทรงพอพระทัยมากและให้จัดทำกล่องทองแดงนี้ว่างไว้ตามประตูพระราชวัง รวมทั้งในราชสำนัก เนื่องจากพระนางมีความหวาดระแวงว่าเหล่าเสนาบดีและข้าราชการจะคิดต่อต้านพระนาง
สำหรับผู้ที่ส่งจดหมายเปิดโปงความลับ หากเรื่องที่แจ้งเป็นเรื่องจริงผู้ที่แจ้งจะได้รับรางวัลเพื่อเป็นการตอบแทน แต่ผู้ที่แจ้งเรื่องที่เป็นความเท็จแล้วก็จะไม่ได้รับโทษใด ๆ นอกจากนั้นบางครั้งพระนางบูเช็กเทียนยังรับสั่งเรียกให้ผู้ที่แจ้งเรื่องเข้ามานั้นมาเข้าเฝ้ามามอบตำแหน่งและเลื่อนขั้นให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วย ทำให้กระแสการเปิดโปงความลับแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง
สาเหตุจากความหวาดระแวงของพระนางบูเช็กเทียนนี้ ทำให้หน่วยสืบสวนลับ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่าง เซี่ยวโหยวลี่ (อังกฤษ: Suo Yuanli; จีนตัวเต็ม: 索元禮; จีนตัวย่อ: 索元礼; พินอิน: Sǔo Yuánlǐ) โจวซิ่ง (อังกฤษ: Zhou Xing; จีน: 周興; พินอิน: Zhōu xìng) และไหลจวิ้นเฉิน (อังกฤษ: Lai Junchen;จีน: 來俊臣; พินอิน: Lái jùnchén) มีอำนาจในการดำเนินการมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการยัดเยียดข้อกล่าวหา ตั้งคดีที่ไม่เป็นธรรม ใส่ร้ายคนดี จึงได้เลื่อนขั้นขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังซื้อตัวอันธพาลไว้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อการเปิดโปงโดยเฉพาะ ทั้งยังสร้างหลักฐานเท็จในการใส่ร้ายป้ายสี ทรมาน และประหารชีวิตอย่างเป็นระบบ

กำจัดคู่แข่งที่เป็นที่ต้องสงสัย[

ในปี ค.ศ. 688 พระนางบูเช็เทียนทรงยอมที่จะเสียแม่น้ำโล่ (อังกฤษ: Luo River; จีน: 洛水; พินอิน: Luò shuǐ; เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองลกเอี๋ยงในมณฑลเหอหนาน หรือที่เรียกว่าเป็นเมืองหลวงแห่งตะวันออก) พระนางบูเช็กเทียนทรงเรียกประชุมเชื้อพระวงศ์อาวุโสของราชวงศ์ถังซึ่งอยู๋ในตระกูลหลี่ในเมืองลั่วหยาง ทำให้เจ้าชายและเชื้อพระวงศ์เหล่านั้นต่างวิตกกังวลว่าจะเป็นแผนลวงในการลอบสังหารพวกตนเพื่อปกป้องพระราชบัลลังก์ของพระนาง พวกเขาจึงวางแผนต่อต้านพระนางบูเช็กเทียน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการวางแผนการทำรัฐประหารอย่างรัดกุมนั้น หลี่เจิน (อังกฤษ: Li Zhen; จีน: 李貞; พินอิน: Lǐ zhēn; ค.ศ. 627 - 12 ตุลาคม ค.ศ. 688) หรือเดิมคือ เจ้าชายจิ้งแห่งเยว่ หรือ เยว่จิ้งหวัง (อังกฤษ: Prince Jing of Yue; จีน: 越敬王; พินอิน: Yuè jìng wáng) และบุตรชายของเขา หลี่ชง (อังกฤษ: Li Chong; จีน: 李沖; พินอิน: Lǐ chōng; เสียชีวิต 22 กันยายน ค.ศ. 688) หรือเดิมคือ เจ้าชายแห่งหลังเซี่ย (อังกฤษ: Prince of Langye; จีน: 琅邪王; พินอิน: Láng xié wáng) ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านเสียก่อน โดยใช้ฐานอยู่ในบริเวณยู่โจว (อังกฤษ: Yu Prefecture; จีน:豫州; พินอิน: Yùzhōu, ในปัจจุบันคือเมืองจู้หม่าเตี้ยน (อังกฤษ: Zhumadian; จีน: 驻马店; พินอิน: Zhùmǎdiàn) ในมณฑลเหอหนาน) และบริเวณโบว๋โจว (อังกฤษ: Bo Prefecture; จีน: 博州; พินอิน: Bó zhōu, ในปัจจุบันคือ iaochengมณฑลซานตง) ในขณะที่เจ้าชายราชวงศ์ถังคนอื่น ๆ ยังไม่พร้อม ทำให้หลี่เจินและหลี่ชงถูกกองกำลังของพระนางบูเช็กเทียนและกองกำลังพื้นเมืองโจมตีได้โดยสำเร็จอย่างรวดเร็ว พระนางบูเช็กเทียนจึงใช้โอกาสนี้จับกุมหลานชายของสมเด็จพระจักรพรรดิเกาจง หลี่หยวนเจีย (อังกฤษ: Li Yuanjia; จีน: 李元嘉; พินอิน: Lǐ yuánjiā) หรือเจ้าชายแห่งฮั่น และหลี่หลิงกุ้ย (อังกฤษ: Li Lingkui; จีน: 李靈夔; พินอิน: Lǐ líng kuí) หรือเจ้าชายแห่งหลู และเจ้าชายฉางเล่อ รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ ในราชวงศ์ถังผู้สืบเชื้อสายตระกูลหลี่ได้ถูกบังคับให้ทำอัตนิบากกรรมไปทั้งสิ้น แม้แต่เซียวส่าวพระสวามีของเจ้าหญิงไท่ผิงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ถูกทรมานด้วยการอดอาหารและเสียชีวิตในที่สุด ต่อมาอีกหลายปีก็ยังมีแรงจูงใจทางการเมืองที่ทำให้เกิดการสังหารเหล่าสมาชิกเชื้อพระวงศ์ตระกูลหลี่อยู่อย่างต่อเนื่อง

พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว

ในปี ค.ศ. 690 ขณะที่พระนางบูเช็กเทียนมีพระชมน์มายุได้ 67 พรรษา พระนางได้ทรงดำเนินการขั้นสุดท้ายในการขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี หรือ หวงตี้ พร้อมทั้งแผนการตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์โจว เนื่องจากกฏมณเฑียรบาลจีนในสมัยนั้นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสืบทอดตำแหน่งในราชบัลลังก์ (คล้ายกับกฎหมายแซลิกในประเทศทางยุโรป) แต่พระนางบูเช็กเทียนนั้นทรงตั้งใจที่จะล้มล้างประเพณีนี้ นอกจากนั้นการใช้วิธีสืบสวนลับก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระบบการรับข้าราชการพลเรือนในยุคของพระนางนั้นมีความบกพร่องและหละหลวมมากในการเลื่อนขั้นและปรับตำแหน่ง อย่างไรก็ตามพระนางบูเช็กเทียนนั้นถือว่ามีความสามารถในการประเมิณความสามารถของเหล่าขุนนางและข้าราชการได้เป็นอย่างดีเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามารับใช้พระองค์ ดังที่ซือหม่ากวง (อังกฤษ: Sima Guang; จีนตัวย่อ: 司马光; จีนตัวเต็ม:司馬光; พินอิน: Sīmǎ Guāng; ค.ศ. 1019 – 1086) นักประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์ซ่งได้ระบุไว้ในหนังสือจือจื้อทงเจี้ยน (อังกฤษ: Zizhi Tongjian หรือ Tzu-chih Tung-chien; จีนตัวย่อ: 资治通鉴; จีนตัวเต็ม: 資治通鑑; พินอิน: Zīzhì Tōngjiàn; แปลตามตัวอักษรว่า "กระจกที่ครอบคลุมเพื่อช่วยร้ฐบาล (Comprehensive Mirror to Aid in Government)") ที่เขาเขียนไว้ โดยมีข้อความว่า
แม้ว่าพระพันปีหรือฮองไทเฮาจะทรงใช้ยศฐาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งทางราชการเพื่อให้เหล่าเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ยอมเป็นพวกรับใช้ให้กับพระนาง แต่หากพระนางเห็นบุคคลใดไร้ความสามารถจะทรงสั่งปลดหรือแม้กระทั่งประหารชีวิตโดยทันที พระนางทรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมราชสำนักและอาณาจักรด้วยการให้รางวัลและบทลงโทษไปพร้อม ๆ กัน ทั้งยังใช้วิจารณญาณของพระนางเองในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายต่าง ๆ ด้วยการสังเกตและตัดสินอย่างรอบคอบ ดังนั้นข้าราชการผู้มีความสามารถจึงยอมเป็นข้ารับใช้พระนางอย่างเต็มใจ
ขุนนางคนใกล้ชิดของพระนางบูเช็กเทียนถวายคัมภรีร์ต้าอวิ๋นจิง ให้แก่พระนางและกล่าวว่าพระนางบูเช็กเทียนทรงเป็นสังขจายจุตติมาประสูติ จึงควรที่จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ต่อมาฟูโหยวอี้ ขุนนางตำแหน่งซื่ออวี้สื่อ พาผู้คนจำนวน 900 คนมาเสนอเปลี่ยนราชาวงศ์จากชื่อราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจว ในครั้งแรกพระนางบูเช็กเทียนทรงทำทีไม่อนุญาต แต่ก็ตอบแทนแก่ฟูโหยวอี้โดยการเลื่อนตำแหน่งให้แก่เขา หลังจากนั้นจึงมีเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการในราชสำนัก และประชาชนจำนวนกว่า 60,000 คน พากันมาขอให้พระนางทรงเปลี่ยนราชวงศ์อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ เดือน พระนางบูเช็กเทียนจึงประกาศให้เปลี่ยนจากราชวงศ์ถังมาเป็นราชวงศ์โจว และจัดพระราชพิธีสถาปนาราชวงศ์ใหม่อย่างยิ่งใหญ่ ให้ตั้งเมืองลั่วหยางเป็นเมืองหลวง และเมืองฉางอันเป็นเมืองหลวงรอง รวมทั้งยกย่องบรรพบุรุษตระกูลอู่ (หรือบู ในสำเนียงฮกเกี้ยน) ของพระนางเป็นตระกูลแห่งจักรพรรดิ
เส้นทางการขึ้นสู่พระราชอำนาจและราชบัลลังก์ของพระนางบูเช็กเทียน หรือสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเพื่อเป็นกษัตริย์หญิงพระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งแผ่นดินจีนนั้น ผ่านอุปสรรคขวากหนามและทั้งยังเต็มไปด้วยเล่ห์กลอุบาย การใส่ร้ายป้ายสี ลอบทำร้าย ลอบสังหารอยู่หลายครา ก่อนที่พระนางจะสามารถสถาปนาราชวงศ์โจวของพระองค์ได้ เรื่องราวประวัติศาสตร์นี้ หลินยู่ถัง (อังกฤษ: Lin Yutang; พ.ศ. 2438-2519) นักประพันธ์ชื่อดังของจีน ได้ระบุไว้ในหนังสือ “ประวัติบูเช็กเทียน” ถึงสถิติการวางแผนการสังหารบุคคลที่ขัดขวางเส้นทางของพระนางว่า ทรงสังหารลูก หลาน และเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดรวม 23 พระองค์ สังหารเจ้าชายในรางวงศ์ถังแซ่หลี่ 50 พระองค์ เสนาบดีและขุนผลฝีมือดีอีก 36 คน รวมทั้งหมด 109 คน

ช่วงต้นของการครองราชย์

หลังจากที่พระนางบูเช็กเทียนทรงขึ้นครองราชย์เพื่อปกครองและบริหารราชการอย่างเต็มอำนาจในฐานะกษัตริย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงได้พัฒนาพระพุทธศาสนาขึ้นเหนือลัทธิเต๋า ทรงสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการโดยการสร้างวัดต้าหยุน หรือวัดเมฆใหญ่ (อังกฤษ: Dayun Temple; จีน: 大雲寺; พินอิน: Dà yúnsì) ขึ้นในแต่ละจังหวัดที่อยู่ภายใต้อาณาเขตของเมืองหลวงทั้งสองแห่งคือ เมืองลั่วหยางและเมืองฉางอัน รวมถึงแต่งตั้งตำแหน่งพระภิกษุอาวุโสรวม 9 ตำแหน่ง และพระนางยังทรงตั้งแท่นบูชาบรรพบุรุษเจ็ดชั้นไว้ในวัดหลวง แต่พระนางก็ยังคงปฏิบัติพิธีบวงสรวงอดีตจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังทั้งสามพระองค์ คือ สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจู่ สมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงเช่นเดิม
หากแต่พระนางบูเช็กเทียนก็ประสบปัญหาเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งรัชทายาท ในช่วงที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งราชบัลลังก์นั้น พระนางแต่งตั้งเจ้าชายหลี่ตั้น (อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิถังรุ่ยจง) ให้เป็นองค์รัชทายาท และให้เปลี่ยนพระนามเป็นแซ่อู่ด้วย อย่างไรก็ตาม จางเจียฝู (อังกฤษ: Zhang Jiafu; จีน: 張嘉福; พินอิน: Zhāngjiāfú) ได้เกลี้ยกล่อม หวังชิ่งจรือ (อังกฤษ: Wang Qingzhi; จีน: 王慶之; พินอิน: Wáng qìngzhī) ให้ยื่นฏีกาเสนอให้เจ้าชายอู่เฉิงซื่อ (อังกฤษ: Wu Chengsi; จีน: 武承嗣; พินอิน: Wǔ Chéngsì) ผู้เป็นพระนัดดาของพระนางบูเช็กเทียนขึ้นเป็นเจ้าชายรัชทายาทแทน โดยให้เหตุผลว่าพระจักรพรรดินีทรงมีพระนามแซ่อู่ ดังนั้นผู้สืบทอดราชบัลลังก์จึงควรเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลอู่จึงจะมีความเหมาะสมกว่า พระนางได้ทรงทราบและเห็นด้วยหากแต่เสนาบดีเฉินจ่างเชี่ยน (อังกฤษ: Cen Changqian; จีน: 岑長倩; พินอิน: Cén zhǎngqiàn) และเก๋อฝู่หยวน (อังกฤษ: Ge Fuyuan; จีน: 格輔元; พินอิน: Gé fǔyuán) แสดงความเห็นคัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง พวกเขาทั้งสองรวมทั้งพวกอีกหนึ่งคน คือเสนาบดีโอวหยาทง (อังกฤษ: Ouyang Tong; จีน: 歐陽通; พินอิน: Ōuyáng tōng) จึงถูกลงโทษประหารชีวิตทั้งหมด ในที่สุดพระนางบูเช็กเทียนก็มิได้ทำตามคำเสนอแนะที่จะแต่งตั้งให้อู่เฉิงซื่อเป็นรัชทายาท แต่ทรงอนุญาตให้หวังชิ่งจรือสามารถเข้าออกพระราชวังเพื่อเข้าพระนางได้อย่างอิสระ โดยมีช่วงหนึ่งที่พระนางบูเช็กเทียนทรงไม่พอพระทัยหวังชิ่งจรือซึ่งเข้าออกพระราชวังบ่อยเกินไป พระนางจึงมีรับสั่งให้หลี่เจาเต๋อ (อังกฤษ: Li Zhaode; จีน: 李昭德; พินอิน: Lǐzhāodé) สั่งสอนหวังชิ่งจรือ หลี่เจาเต๋อจึงใช้โอกาสนี้ทำร้ายหวังชิ่งจรือจนเสียชีวิต
หลี่เจาเต๋อจึงได้กราบบังคมทูลพระนางบูเช็กเทียนโดยเสนอแนะให้เจ้าชายหลี่ตั้นเป็นองค์รัชทายาทดังเดิม ด้วยเหตุผลว่าความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นบุตรของเจ้าชายหลี่ตั้นนั้นมีความใกล้ชิดกับพระนางมากกว่าความสัมพันธ์ในฐานะพระนัดดาของเจ้าชายอู่เฉิงซื่อ นอกจากนั้นหากเจ้าชายอู่เฉิงซื่อทรงขึ้นครองราชย์บัลลังก์แล้วพระองค์ก็คงจะไม่ทำพิธีบูชาบรรพบุรุษให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงเป็นแน่ พระนางบูเช็กเทียนจึงตกลงพระทัยให้เจ้าชายหลี่ตั้นคงเป็นองค์รัชทายาทดังเดิม และมิได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกเป็นเวลานานหลังจากนั้น[41] นอกจากนั้นหลี่เจาเต๋อยังได้กล่าวเตือนอีกว่าอู่เฉิงซื่อนั้นมีอำนาจมากเกินไป พระนางบูเช็กเทียนจึงได้ถอดถอนอู่เฉิงซื่อออกจากตำแหน่งเสนาบดีและแต่งตั้งเขาในตำแหน่งใหม่ที่สูงกว่าหากมิได้มีอำนาจอย่างแท้จริง
ในปี ค.ศ. 692 ในขณะที่อิทธิพลและอำนาจของหน่วยสืบสวนลับมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดกรณีที่ไหลจวิ้นเฉินเจ้าหน้าที่ตำรวจลับตั้งข้อหาใส่ร้ายเหล่าเสนาบดี ตี๋ เหรินเจี๋ย (อังกฤษ: Di Renjia ; จีน: 狄仁傑; พินอิน: Dírénjié) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ถัง ในรัชศกอู่ เจ๋อเทียน เป็นข้าราชการหนึ่งในหลาย ๆ คนซึ่งได้รับการสรรเสริญมากที่สุดในรัชศกดังกล่าว และเป็นที่สดุดีว่ามีบทบาทผลักดันให้อู่ เจ๋อเทียนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอันโหดร้ายเป็นระบอบอันเชิดชูคุณธรรม เริ่นจรีอกู่ (อังกฤษ: Ren Zhigu; จีน: 任知古; พินอิน: Rèn zhī gǔ) เผยสิงเปิ่น (อังกฤษ: Pei Xingben; จีน: 裴行本; พินอิน: Péixíngběn) และข้าราชการในราชสำนัก คือ ซุยซวนหลี่ (อังกฤษ: Cui Xuanli; จีน: 崔宣禮; พินอิน: Cuī xuānlǐ), หลูเซี่ยน (อังกฤษ: Lu Xian; จีน: 盧獻; พินอิน: Lú xiàn), เว่ยหยวนจง (อังกฤษ: Wei Yuanzhong; จีน: 魏元忠; พินอิน: Wèi yuánzhōng), และ หลี่ซื่อเจิน (อังกฤษ: Li Sizhen; จีน: 李嗣真; พินอิน: Lǐsìzhēn) ในข้อหาก่อการกบฏ โดยไหลจวิ้นเฉินได้พยายามทำให้ทั้งเจ็ดคนนี้ยอมรับสารภาพโดยอ้างพระราชกระแสรับสั่งของพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนว่าหากผู้ใดรับสารภาพแล้วจะได้รับการไว้ชีวิต ตี๋เหรินเจี๋ยซึ่งยอมรับสารภาพจึงไม่ถูกทรมาน หลังจากนั้นหวังเต์อโช่ว(อังกฤษ: Wang Deshou ; จีน: 王德壽; พินอิน: Wáng déshòu) ลูกน้องของไหลจวิ้นเฉินได้พยายามหว่านล้อมให้ตี๋เหรินเจี๋ยใส่ร้ายพาดพิงถึง Yang Zhirou 楊執柔 เสนาบดีอีกคนหนึงด้วย หากแต่ตี๋เหรินเจี๋ยปฏิเสธ และเขาได้เขียนคำร้องทุกข์ถึงพระนางบูเช็กเทียนบนผ้าห่มและซ่อนไว้ในเสื้อผ้าที่ส่งกลับบ้านโดยอ้างว่าจะเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน โดยให้บุตรชายของเขา ตี้กวงหยวน (อังกฤษ: Di Guangyuan; จีน: 狄光遠; พินอิน: Dí guāng yuǎn) เป็นผู้นำคำร้องทุกข์นี้ออกมา พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงระแคะระคายในเรื่องนี้และสงสัยมากขึ้นจนเรียกไหลจวิ้นเฉินเข้าพบ ซึ่งไหลจวิ้นเฉินก็ได้ปลอมแปลงเอกสารในชื่อของตี๋เหรินเจี๋ยและพรรคพวก โดยมีข้อความว่าบุคคลเหล่านี้ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระนางบูเช็กเทียนที่ทรงรับสั่งโทษประหารชีวิตแก่พวกเขา
อย่างไรก็ตาม Le Sihui บุตรชายคนเล็กของเสนาบดีอีกคนหนึ่งซึ่งถูกจับกุมและโดยได้รับโทษในฐานะผู้รับใช้เสนาบดีด้านการเกษตรได้เขียนเรื่องร้องเรียนแก่พระนางบูเช็กเทียน ซึ่งมีข้อความกล่าวด้วยว่าไหลจวิ้นเฉินนั้นเป็นผู้มากความสามารถในด้านการสร้างคดีเท็จ จนแม้ผู้ซื่อสัตย์และสุจริตที่สุดก็ยังอาจได้รับการทรมานจากเขาจนต้องยอมสารภาพผิดในที่สุด พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงมีรับสั่งให้นำตัวนักโทษทั้งเจ็ดคนนั้นมาให้พระนางไต่สวนด้วยพระองค์เอง และหลังจากที่ทั้งหมดได้ปฏิเสธการรับสารภาพว่าเป็นเอกสารที่ปลอมแปลงขึ้นโดยไหลจวิ้นเฉินแล้ว พระนางบูเช็กเทียนจึงให้ปล่อยตัวทั้งหมดแต่ให้ถูกเนรเทศไปรับราชการอยู่ต่างเมืองแทน โดยในกรณีของตี๋เหรินเจี๋ยนั้น ทรงให้ไปเป็นผู้พิพากษาที่มณฑลเผิงเจ๋อ (อังกฤษ: Pengze County; จีน: 彭澤; พินอิน: Péng zé, ปัจจุบันคือจิ่วเจียง ในมณฑลเจียงซี)
หลังจากคดีของตี๋เหรินเจี๋ยและพวกแล้ว ด้วยคำแนะนำของ จูจิ้งเจ๋อ (อังกฤษ: Zhu Jingze; จีน: 朱敬則; พินอิน: Zhū jìngzé) และ โจวจู่ (อังกฤษ: Zhou Ju; จีน: 周矩; พินอิน: Zhōu jǔ) การสังหารหมู่เจากคดีทางการเมืองก็ลดน้อยลงไปเป็นอันมาก แม้ว่าจะยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม
และในปี ค.ศ. 692 เดียวกันนี้เองพระนางบูเช็กเทียนได้ทรงมีรับสั่งให้นายพลหวังเสี้ยวเจี๋ย (อังกฤษ: Wang Xiaojie; จีน: 王孝傑; พินอิน: Wángxiàojié) เข้าโจมตีเมืองทูฟาน (อังกฤษ: Tufan) ซึ่งเป็นรัฐ ๆ หนึ่งในทิเบต ซึ่งนายพลหวังเสี้ยวเจี๋ยสามารถเอาชนะกองกำลังของทิเบตและสามารถรวบรวมอาณาบริเวณซียู่ (อังกฤษ: Xiyu; จีน:  西域; พินอิน: Xīyù) (พื้นที่บริเวณตะวันออกของจีน) ที่ตกอยู่ภายใต้ทิเบตตั้งแต่ปี ค.ศ. 670 คือ ชิวจื๋อ (อังกฤษ: Qiuzi; จีนตัวเต็ม: 龜茲; พินอิน: Qiūcí) ยู๋เถียน (อังกฤษ: Yutian; จีนตัวเต็ม: 于田; พินอิน: Yú tián) ชูเล่อ (อังกฤษ: Shule; จีน: 疏勒; พินอิน: Shū lēi) และซุ่ยเย่ (อังกฤษ: Suiye; จีนตัวเต็ม: 碎葉; พินอิน: Suì yè) กลับเข้ามาได้
ในปี ค.ศ. 693 พระนางบูเช็กเทียนทรงเชื่อคำกราบทูลของนางสนองพระโอษฐ์เหวยทวนเอ่อร์ (อังกฤษ: Wei Tuan'er; จีน: 韋團兒; พินอิน: Wéi tuán er) ผู้เป็นปฏิปักษ์กับเจ้าชายหลี่ตั้น (ไม่มีข้อมูลหลักฐานว่าเหตุใดนางจึงรู้สึกเช่นนั้น) ซึ่งกล่าวข้อความใส่ร้ายเจ้าหญิงหลิว พระมเหสีของเจ้าชายหลี่ตั้น (อังกฤษ: Crown Princess Liu; จีน: 劉皇后; พินอิน: Liú huánghòu) และนางสนมโตวว่าใช้คาถาอาคม พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงสั่งให้ประหารชีวิตเมหสีหลิวและนางสนมโตว เจ้าชายหลี่ตั้นทรงเกรงพระทัยว่าพระองค์จะถูกลงโทษโดยการประหารเช่นกันเป็นรายต่อไปจึงไม่กล้าที่จะทักทานใด ๆ นางสนองพระโอษฐ์เหวยทวนเอ่อร์จึงวางแผนใส่ร้ายและกำจัดเจ้าชายหลี่ตั้นด้วยอีกพระองค์หนึ่ง อย่างไรก็ตามมีบางคนได้กราบบังคมทูลความจริงเกี่ยวกับนางสนองพระโอษฐ์เหวยทวนเอ่อร์ ทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงสั่งประหารนางสนองพระโอษฐ์เหวยทวนเอ่อร์ แต่พระนางก็ยังทรงลงโทษเจ้าชายหลี่ตั้นโดยการลดพระอิสริยยศของพระโอรสของเจ้าชายหลี่ตั้น
ต่อมามีผู้กล่าวหาว่าเผ๋ยเฝ่ยกง (อังกฤษ: Pei Feigong; จีน: 裴匪躬; พินอิน: Péi fěi gōng) และฟ่านหยุนเซียน (อังกฤษ: Fan Yunxian; จีน: 范雲仙; พินอิน: Fàn yúnxiān) ได้ลักลอบเข้าพบเจ้าชายหลี่ตั้น ทั้งสองคนจึงถูกประหารด้วยเช่นกัน ทั้งพระนางบูเช็กเทียนยังได้สั่งห้ามมิให้ข้าราชการคนใดเข้าพบเจ้าชายหลี่ตั้นด้วย หลังจากนั้นเจ้าชายหลี่ตั้นก็ถูกกล่าวหาว่าวางแผนก่อการกบฏ พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงให้ไหลจวิ้นเฉินดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ โดยได้เข้าจับกุมคนรับใช้ของเจ้าชายหลี่ตั้นจำนวนมากมาทรมานเพื่อให้รับสารภาพ จนกระทั่งมีคนรับใช้หลายคนที่ถูกทรมานจนทนไม่ได้และพร้อมสารภาพผิดรวมทั้งกล่าวโทษต่อเจ้าชายหลี่ตั้นด้วย หากมีคนรับใช้คนหนึ่งของเจ้าชายหลี่ตั้นชื่อ อันจิ้งจาง (อังกฤษ: An Jinzang) ได้ยืนยันว่าเจ้าชายหลี่ตั้นนันเป็นผู้บริสุทธิ์และได้ผ่าท้องตัวเองเพื่อเป็นการสาบานและยืนยันคำกล่าวนั้น เมื่อพระนางบูเช็กเทียนทรงทราบเรื่องนี้ ทรงให้หมอหลวงเข้ารักษาอันจิ้งจางซึ่งก็สามารถช่วยรักษาชีวิตของเขาไว้ได้อย่างหวุดหวิด รวมทั้งสั่งให้ไหลจวิ้นเฉินยุติการสอบสวนนี้ ซึ่งทำให้เจ้าชายหลี่ตั้นทรงรอดชีวิตมาได้
ในปี ค.ศ. 694 หลี่เจาเต๋อกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจแทนเจ้าชายอู่เฉิงซื่อที่ถูกถอดจากตำแหน่งเสนาบดีและลดทอนอำนาจลง และตัวหลี่เจาเต๋อเองก็ลุแก่อำนาจและอิทธิพลของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงรับสั่งให้ถอดถอนเขาลงเช่นกัน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่พระนางบูเช็กเทียนทรงลุ่มหลงในกลุ่มลี้ลับ ซึ่งมีฤๅษีเหวยเฉินฟาง (อังกฤษ: Wei Shifang; จีน: 韋什方; พินอิน: Wéi shén fāng) ที่พระนางทรงแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีในช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วย เขาอ้างว่าตนเองเกิดในปี ค.ศ. 238 จึงมีอายุมากกว่า 450 ปีแล้ว แม่ชีในพุทธศาสนาจากเมืองเหอเน่ย (อังกฤษ: Henei; จีน: 河內; พินอิน: Hénèi) ซึ่งอ้างว่าเป็นพระพุทธเจ้าและยังสามารถทำนายอนาคตได้ และชายชราอีกผู้หนึ่งซึ่งอ้างว่ามีอายุมากกว่า 500 ปี โดยพระนางบูเช็กเทียนทรงเคารพทั้งสามคนนี้มาก โดยอ้างว่าเป็นการสร้างภาพของพระศรีอริยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป หรือคือ พระโคตมพุทธเจ้า) ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมเพื่อสร้างฐานและบารมีให้แก่ราชบัลลังก์ของพระนางอย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี ค.ศ. 695 พระตำหนักวังหลวงสองหลัง คือ หมิงถังหรือโถงท้องพระโรง (อังกฤษ: the imperial meeting hall; จีน: 明堂; พินอิน: Míngtáng) และโถงแห่งสรวงสวรรค์ (อังกฤษ: the Heavenly Hall; จีน: 天堂; พินอิน: Tiāntáng) ถูกไฟใหม้ลงจากฝีมือการวางเพลิงของเซึยวหวายอี้ อดีตชู้รักของพระนางที่มีความรู้สึกริษยาและโกรธที่พระนางบูเช็กเทียนหันไปมีชู้รักคนใหม่ คือ เฉินหนานฉิว (อังกฤษ: Shen Nanqiu; จีน: 沈南璆; พินอิน: Chénnán qiú) ผู้เป็นหมอหลวงแห่งพระราชวังในขณะนั้น ทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงโกรธที่กลุ่มบุคคลลี้ลับทั้งสามที่พระนางให้ความเคารพเชื่อถือนั้นกลับไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ได้ล่วงหน้าตามที่กล่าวอ้างไว้ จึงรับสั่งให้จับกุมแม่ชีและบรรดาลูกศิษย์ของนางไปเป็นทาสเสีย ส่วนเหวยเฉินฟางนั้นชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน และชายชรานั้นหนีไปได้ ต่อมาพระนางทรงลงโทษเซียวหวายอี้ด้วยการประหารชีวิตตามไปอีกคนหนึ่งด้วย หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงลดความสนใจในเรื่องลี้ลับเหล่านี้ลงอย่างมาก และกลับมาให้ความสนพระทัยเอาใจใส่ในการบริหารปกครองบ้านเมืองกว่าแต่ก่อนมากด้วย

ช่วงกลางของการครองราชย์

ในการบริหารปกครองบ้านเมืองสมัยพระนางบูเช็กเทียนนั้น เกิดปัญหาทางชายแดนตอนเหนือและตะวันตกอยู่เสมอ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 696 กองทัพที่พระนางสั่งให้ยกไปต่อสู้กับทูฟาน (Tufan) ชนกลุ่มชาวทิเบตซึ่งนำทัพโดยหวังเสื้ยวเจี๋ย (อังกฤษ:Wang Xiaojiei; จีน: 王孝傑; พินอิน: Wángxiàojié) และโหลวซือเต๋อ (อังกฤษ: Lou Shide; จีน: 婁師德; พินอิน: Lóu shī dé) นั้นได้รับความพ่ายแพ้แก่กองทัพของนายพลแห่งทูฟาน คือสองพี่น้องลุ่นชินหลิง (อังกฤษ: Lun Qinling; จีน: 論欽陵; พินอิน: Lùn qīn líng) และลุ่นจ้านโป๋ว (อังกฤษ: Lun Zanpo; จีน: 論贊婆; พินอิน: Lùn zàn pó) พระนางจึงมีรับสั่งให้ปลดหวังหวังเสื้ยวเจี๋ยไปเป็นสามัญชนเสีย และให้โหลวซือเต๋อไปเป็นข้าราชการระดับต่ำแทน แต่ต่อมาภายหลังพระนางจึงได้คืนตำแหน่งแก่บุคคลทั้งสองให้กลับมาเป็นนายพลดังเดิม[42] ในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง พระนางบูเช็กเทียนทรงรับสั่งให้สร้างหม้อสามขาเก้าชิ้น (อังกฤษ: Nine Tripod Cauldrons; จีน: 九鼎; พินอิน: Jǐu Dǐng) ขึ้นใหม่เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจอันสูงสุดของในวัฒนาธรรมจีน เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงสถานภาพและอำนาจของพระนางด้วย
มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างมากเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 696 หัวหน้าเผ่าชี่ตาน (อังกฤษ: Khitan; จีน: 契丹; พินอิน: Qìdān) คือ หลี่จิ้นจง (อังกฤษ: Li Jinzhong; จีน: 李盡忠; พินอิน: Lǐ jìnzhōng) และน้องเขยของเขา คือ ซุนว่านหรง(อังกฤษ: Sun Wanrong; จีน: 孫萬榮; พินอิน: Sūnwànróng) ซึ่งเป็นกลุ่มชนทางตอนเหนือของประเทศจีนที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 และมีอิทธิพลมากเหนือพื้นที่มองโกเลียและในเวลาต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 คือ แมนจูเรีย ทั้งสองเกิดควาโกรธแค้นที่มีการปฏิบัติอย่างทารุณต่อชาวชี่ตานโดย เจ้าเหวินฮุ่ย (อังกฤษ: Zhao Wenhui; จีน: 趙文翽; พินอิน: Zhàowénhuì) ข้าราชการผู้หนึ่งในราชสำนักแห่งราชวงศ์โจวซึ่งประจำอยู่ที่บริเวณหยิงโจว (อังกฤษ: Ying Zhao; จีน: 營州; พินอิน: Yíng zhōu) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองโจวหยาง ในมณฑลเหลียวหนิง จึงได้ร่วมกันก่อการกบฏ ซึ่งนำโดยหลี่จิ้นจงผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอู๋ซ่างข่าน หรือ อู๋ซ่างเค่อฮั่น (อังกฤษ: Wushang Khan; จีน: 無上可汗; พินอิน: Wú shàng kè hán, แปลตามตัวอักษรว่า "ข่านผู้ไม่มีผู้ใดเหนือกว่า") ในขณะนั้น หากกองทัพที่พระนางบูเช็กเทียนส่งไปปราบปรามหลี่จิ้นจงและซุนว่านหรงนั้นกลับแพ้กองกำลังของชี่ตานกลับมาก ทำให้กองกำลังของชี่ตานฮึกเฮมและรุกรานเข้ามายังอาณาจักรของราชวงศ์โจว
ในขณะเดียวกันผู้นำกลุ่มชนทูจิวตะวันออก (อังกฤษ: Tujue; จีน: 突厥; พินอิน: Tūjué) หรือกลุ่มชนเตอร์กิก คือ อาชรือน่า โม่โท่ว (อังกฤษ: Ashina Mochuo; จีน: 阿史那•默啜; พินอิน: Āshǐnà Mòchuò) ได้เข้าร่วมสงครามเพื่อต่อด้านทั้งอาณาจักรโจวและกลุ่มชนชี่ตาน โดยเขาสามารถนำกองกำลังโจมตีชาวชี่ตานและเอาชัยชนะได้ในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 696 นั้นทำให้หลี่จิ้นจงเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งยังจับกุมครอบครัวของหลี่จิ้นจงและซุนว่านหรงด้วย ทำให้กลุ่มชนชี่ตานหยุดการโจมตีต่อต้านอาณาจักรโจวไปชั่วคราว หลังจากที่ซุนว่านหรงได้ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มชนชี่ตานต่อจากพี่เขยของเขาในฐานะข่านองค์ใหม่ เขาได้รวบรวมกองกำลังขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อต่อต้านอาณาจักรโจว โดยได้รับชัยชนะเหนือกองทัพโจวในการต่อสู้เผชิญหน้ากันอยู่หลายครั้ง โดยมีครั้งหนึ่งที่หวังซื่อเจีย (Wang Shijie) ถูกสังหารจนเสียชีวิตด้วย พระนางบูเช็กเทียนได้พยายามบรรเทาสถานการณ์โดยการสร้างสัมพันธ์ที่ดีและสร้างสันติภาพกับอาชรือน่า โม่โท่ว ด้วยมูลค่าที่สูงมาก คือ การคืนตัวชาวทูจิวที่ถูกส่งมายังอาณาจักรโจวและยังส่งของมีค่า อาทิ เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ผ้าไหม อุปกรณ์ใช้สอย และเหล็ก ให้แก่อาชรือน่า โม่โท่ว ด้วย ในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 697 อาชรือน่า โม่โท่ว ได้เข้าโจมตีกลุ่มชนชาวซี่ตานอีกครั้ง และในครั้งนี้สามารถเอาชนะจนทำให้กองกำลังของชาวซี่ตานล่มสลาย โดยหัวหน้าของพวกเขาคือซุนว่านหรงก็ถูกสังหารจนเสียชีวิตไปในการต่อสู้ จึงเป็นที่สิ้นสุดของการคุกคามจากซี่ตานในที่สุด
ในปี ค.ศ. 697 เช่นเดียวกันไหลจวิ้นเฉินผู้เคยสูญเสียอำนาจไปในอดีต (ในปี ค.ศ. 693) และกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งในช่วงนี้นั้นก็ได้สร้างเรื่องใส่ร้ายแก่หลี่เจาเต๋อว่าก่อคดีอาชญากรรม และยังวางแผนใส่ร้ายแก่เจ้าชายหลี่ตั้น เจ้าชายหลี่เจ๋อ และเจ้าหญิงไท่ผิงว่าทรงร่วมกันก่อการกบฏ ซึ่งทั้งสามพระองค์นั้นเป็นเจ้าชายพระราชโอรสและเจ้าหญิงพระราชธิดาแห่งราชตระกูลอู่ในพระนางบูเช็กเทียนด้วย ทำให้เจ้าชายทั้งสองพระองค์และเจ้าหญิงไท่ผิงทรงออกมาปฏิเสธและต่อต้านไหลจวิ้นเฉินเป็นครั้งแรก และกล่าวหาไหลจวิ้นเฉินในคดีอาชญากรรม ทั้งไหลจวิ้นเฉินและหลี่เจาเต๋อจึงถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกันทั้งคู่ หลังจากการเสียชีวิตของไหลจวิ้นเฉิน หน่วยสืบราชการตำรวจลับของพระนางบูเช็กเทียนก็จบสิ้นลง ผู้ที่เคยถูกจับและดำเนินคดีโดยไหลจวิ้นเฉินจึงถูกประกาศให้พ้นความผิดตามที่เคยถูกกล่าวหาไว้ในช่วงเวลาเดียวกันนี้พระนางบูเช็กเทียนก็เริ่มความสัมพันธ์กับคนรักใหม่ของพระองค์ถึงสองคน คือ พี่น้อง ตระกูลจาง ชื่อ จางอี้จรีอ (อังกฤษ: Zhang Yizhi; จีน: 張易之; พินอิน: Zhāngyìzhī) และ จางชางจง (อังกฤษ: Zhang Changzong; จีน: 張昌宗; พินอิน: Zhāngchāngzōng) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นดยุกทั้งสองคน
ในราวปี ค.ศ. 698 อู่เฉิงซื่อ หรือ เจ้าชายแห่งเว่ย (Prince of Wei) และ อู่ซานซือ หรือ เจ้าชายแห่งเหลียง (Prince of Liang) พระนัดดาอีกองค์หนึ่งของพระนางบูเช็กเทียน ได้พยายามให้ข้าราชสำนักโน้มน้าวพระนางบูเช็กเทียนให้แต่งตั้งพระองค์คนใดคนหนึ่งเป็นรัชทายาท โดยอ้างเหตุผลว่าสมเด็จพระจักรพรรดินั้นควรแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ในตระกูลเดียวกันเป็นผู้สืบทอดราชวงศ์ แต่ตี๋เหรินเจี๋ย (อังกฤษ: Di Renjie; จีนตัวเต็ม: 狄仁傑; จีนตัวย่อ: 狄仁杰; พินอิน: Dí Rénjié) ผู้มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีที่พระนางบูเช็กเทียนทรงให้ความไว้วางพระทัยมากในขณะนั้นได้ยืนยันต่อต้านความคิดนี้และกลับเสนอให้คืนตำแหน่งรัชทายาทแก่เจ้าชายหลี่เจ๋อด้วย ซึ่งมีผู้สนับสนุนความคิดเห็นของเขาคือ เสนาบดีหวังฟางชิ่ง (อังกฤษ: Wang Fangqing; จีน: 王方慶; พินอิน: Wángfāngqìng) และหวังจี๋ซ่าน (อังกฤษ: Wang Jishan; จีน:王及善; พินอิน: Wángjíshàn) รวมทั้งจี๋ซู (อังกฤษ: Ji Xu; จีน: 吉頊; พินอิน: Jí xū) ผู้เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระนางบูเช็กเทียน โดยจี๋ซูได้ชักชวนให้พี่น้องตระกูลจาง (Zhang) ร่วมสนับสนุนความเห็นนี้ด้วย ในที่สุดพระนางบูเช็กเทียนทรงเห็นด้วยและเรียกให้เจ้าชายหลี่เจ๋อกลับมาจากการถูกเนรเทศ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 698 ซึ่งไม่นานต่อจากนั้นเจ้าชายหลี่ตั้นพระโอรสองค์สุดท้องของพระนางหรืออดีตสมเด็จพระจักรพรรดิถังรุ่ยจงทรงเสนอให้ตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแก่เจ้าชายหลี่เจ๋อ พระนางบูเช็กเทียนจึงแต่งตั้งเจ้าชายหลี่ตั้นให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาท โดยไม่นานต่อจากนั้นก็ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น "หลีเสี่ยน (Li Xiǎn)" และเป็น "อู่เซียน (Wu Xian)" ในที่สุด
ต่อมาภายหลัง อาชรือน่า โม่โท่ว เรียกร้องให้เจ้าชายแห่งราชวงศ์ถังอภิเษกสมรสกับบุตรีของตน ซึ่งเป็นแผนในการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ถังแทนที่ราชวงศ์โจว และยังเป็นการนำพาราชวงศ์ถังกลับคืนสู่อำนาจภายใต้อิธิพลของเขาด้วย หากพระนางบูเช็กเทียนกลับส่งอู่หยานซิ่ว (อังกฤษ: Wu Yanxiu; จีน: 武延秀; พินอิน: Wǔ yánxiù) ซึ่งเป็นพระราชปนัดดาในพระนางเองไปอภิเษกกับบุตรีของอาชรือน่า โม่โท่ว แทน ทำให้อาชรือน่า โม่โท่ว ปฏิเสธอู่หยานซิ่วไปเนื่องจากเขามิได้มีความตั้งใจที่จะประสานสันติภาพอย่างจริงใจกับราชวงศ์โจวของพระนางบูเช็กเทียนแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่ออู่หยานซิ่วเดินทางมาถึง เขาจึงกักตัวอู่หยานซิ่วไว้และเปิดการโจมตีครั้งใหญ่กับราชวงศ์โจว โดยรุกล้ำลงมาถึงทางตอนใต้ในบริเวณเจ้าโจว (อังกฤษ: Zhao Prefecture; จีน: 趙州; พินอิน: Zhàozhōu หรือปัจจุบันคือบริเวณฉือเจียจวงในมณฑลเหอเป่ย์) ก่อนที่จะล่าถอยทัพกลับไป
ในปี ค.ศ. 699 การคุกคามจากทูฟานจึงสงบลง กษัตริย์แห่งทูฟาน (อังกฤษ: Tridu Songtsen; Wylie: Khri 'dus-srong btsan) ทรงไม่พอพระทัยที่ลุ่นชินหลิง (อังกฤษ: Lun Qinling; จีน: 論欽陵; พินอิน: Lùn qīnlíng) ได้รวบอำนาจไว้แต่ผู้เดียว พระองค์จึงถือโอกาสขณะที่ลุ่นชินหลิงไม่อยู่ในเมืองลาซาซิ่งเป็นเมืองหลวง ส่งคนเข้าสังหารพวกพ้องของลุ่นชินหลิง และเข้าโจมตีเขาจนเอาชัยชนะได้ ทำให้ลุ่นชินหลิงทำอัตนิบาตกรรมหลังจากนั้นด้วย ลุ่นซ่านโป๋ (อังกฤษ: Lun Zanpo; จีน: 論贊婆; พินอิน: Lùn zànpó) พี่ชายของลุ่นชินหลิง และลุ่นกงเหริน (อังกฤษ: Lun Gongren; จีน: 論弓仁; พินอิน: Lùn gōngrén) บุตรชายของลุ่นชินหลิงจึงได้ยอมจำนนแก่ราชวงศ์โจว หลังจากนั้นทูฟานจึงอยู่ใต้ความวุ่นวายภายในอยู่หลายปี ทำให้เกิดความสงบสันติแต่ชายแดนของอาณาจักรแห่งราชวงศ์โจวด้านเมืองทูฟานในช่วงนั้น
ในปี ค.ศ. 699 เช่นเดียวกันนั้น พระนางบูเช็กเทียนได้ทรงตระหนักว่าพระองค์ทรงมีพระชมน์มายุมากขึ้นแล้ว ทำให้ทรงหวาดกลัวความตายที่จะเยือนมาถึง อีกทั้งเจ้าชายหลี่เสี่ยนและเจ้าชายพระองค์อื่น ๆ ในราชตระกูลอู่ไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ พระนางจึงมีพระบัญชาให้เจ้าชายหลี่ตั้น เจ้าหญิงไท่ผิง พระสวามีคนที่สองของเจ้าหญิงไท่ผิง คือ อู่โยวจี้ หรือเจ้าชายแห่งติง (อังกฤษ: Wu Youji; จีน:武攸暨; พินอิน: Wǔ yōu jì หรือ Prince of Ding) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระนางด้วย รวมทั้งเจ้าชายองค์อื่น ๆ ในราชตระกูลอู่ทั้งหมดทรงสาบานร่วมกัน

ช่วงปลายของการครองราชย์

สนาบดีจางอี้จรีอและจางชางจงมีอำนาจมากขึ้น ทั้งจ้าชายต่าง ๆ ในราชสกุลอู่ก็ยังสนับสนุนและชื่นชมพวกเขา พระนางบูเช็กเทียนก็ยิ่งมอบหมายให้จางอี้จรีอและจางชางดูแลราชการแทนพระนางมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการวิพากย์วิจารณ์อย่างลับ ๆ โดยพระนัดดาของพระนางบูเช็กเทียน หลี่ฉงรุ่น (อังกฤษ: Li Chongrun; จีน: :李重潤; พินอิน:Lǐzhòngrùn) หรือ เจ้าชายแห่งเชา (Prince of Shao) (บุตรของเจ้าชายหลี่เสี่ยน) หลี่เซียนฮุ่ย (อังกฤษ: Li Xianhui; จีน: 李仙蕙 ; พินอิน: Lǐxiānhuì) หรือเจ้าหญิงแห่งย่งไท่ (Lady of Yongtai) (พี่สาวของหลี่ฉงรุ่น) และสามีของหลี่เซียนฮุ่ย คือ อู่หยานจี (อังกฤษ: Wu Yanji ; จีน: 武延基; พินอิน: Wǔyán jī) หรือเจ้าชายแห่งเว่ย (Prince of Wei) (พระปนัดดาแห่งพระนางบูเช็กเทียนและบุตรชายของเจ้าชายอู่เฉิงซื่อ) หากการสนทนานี้ได้เล็ดลอดออกไปจนทำให้จางอี้จรือเข้าถวายรายงานต่อพระนางบูเช็กเทียน พระนางจึงมีรับสั่งให้เจ้าชายเจ้าหญิงทั้งสามพระองค์ทำอัตนิบาตกรรมจนเสียชีวิตในที่สุด
ละแม้ว่าพระนางจะแก่ชราลงมาก แต่ยังคงให้ความสนใจในการคัดเลือกและเลื่อนตำแหน่งข้าราชการผู้มีความสามารถโดดเด่น โดยมีผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในช่วงนี้ได้แก่ ซุยสวนเหว่ย (อังกฤษ: Cui Xuanwei; จีน: 崔玄暐; พินอิน: Cuīxuánwěi) and จางเจียเจิน (อังกฤษ: อังกฤษ: Zhang Jiazhen; จีน: 張嘉貞; พินอิน: Zhāngjiāzhēn) เป็นต้น
ปี ค.ศ. 703 อี้จรีอและจางชางจงเกิดความรู้สึกไม่พอใจเว่ยหยวนผู้ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งมหาเสนาบดีอาวุโส เนื่องจากเขาได้ปลดพี่น้องแซ่จาง คือ จางชางหยี (Zhang Changyi; จีน: 張昌儀; พินอิน: Zhāngchāngyí) และยังปฏิเสธที่จะเลื่อนตำแหน่งให้แก่พี่น้องแซ่จางอีกคน คือ จางชางชี (Zhang Changqi; จีน: 張昌期; พินอิน: Zhāngchāngqī) ด้วย
นอกจากนั้นก็มีความหวาดกลัวว่าหากพระนางบูเช็กเทียนสิ้นพระชมน์ลง เว่ยหยวนอาจหาทางกำจัด(ฆ่า)พวกเขา พวกเขาจึงวางแผนใส่ร้ายเว่ยหยวนและเกาเจี่ยน (อังกฤษ: Gao Jian; จีน: 高戩; พินอิน: Gāo jiǎn) ข้าราชการอีกคนหนึ่งผู้เป็นที่โปรดปรานและได้รับการสนับสนุนจากองค์หญิงไท่ผิง โดยได้ช้กชวนจางเยว่ (อังกฤษ: Zhang Yue; จีน:  张说; พินอิน:  Zhāng Yuè ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเว่ยหยวนให้ร่วมมือในครั้งนี้หากแต่เมื่องจางเยว่ถูกนำตัวไปสืบสวนต่อหน้าพระนางบูเช็กเทียนนั้นเขากลับคำให้การว่าจางอี้จรีอและจางชางจงได้บังคับให้เขาเป็นพยานใส่ร้ายทั้งเว่ยหยวน เกาเจี่ยน และจางเยว่จึงถูกเนรเทศแทนการถูกประหารชีวิต


ในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 704 เริ่มมีข้อกล่าวหาด้านการทุจริตต่อจางอี้จรีอและจางชางจง รวมถึงพี่น้องของเขา คือ จางชางชี จางชางหยี และจางถงซิว (อังกฤษ: Zhang Tongxiu; จีน: 張同休; พินอิน: Zhāngtóngxiū) ทำให้จางชางหยีและจางถงซิวถูกปลดจากตำแหน่ง หากแต่สำหรับจางอี้จรีอและจางชางจงนั้น แม้ว่าหลี่เฉิงเจีย (อังกฤษ: Li Chengjia; จีน: 李承嘉; พินอิน: Lǐchéngjiā) และหวนหยานฟ่าน (อังกฤษ: Huan Yanfan; จีน: 桓彥範; พินอิน: Huán yàn fàn) จะเสนอให้ถูกปลดด้วยเช่นกัน แต่พระนางบูเช็กเทียนทรงเชื่อตามคำแนะนำจากเสนาบดีหยางไจ้ซือ (อังกฤษ: Yang Zaisi; จีน: 楊再思; พินอิน: Yáng Zàisī) ที่ไม่ให้ปลดพวกเขาทั้งสอง ต่อมาภายหลังเสนาบดีเหวยอันฉื่อ (อังกฤษ: Wei Anshi; จีน: 韋安石; พินอิน: Wéi'ānshí) จึงได้มีการนำข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตของจางอี้จรีอและจางชางจงกลับมาพิจารณาคดีใหม่อีก
ครั้ง

สวรรคต

ต่อมาในฤดูหนาว ปี ค.ศ. 704 พระนางบูเช็กเทียนทรงพระประชวรหนัก ในช่วงนั้นมีเพียงพี่น้องตระกูลจางเท่านั้นที่ได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าพระนางได้ ซึ่งแม้แต่เสนาบดีต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า ทำให้จางอี้จรีอและจางชางจงถูกสงสัยว่ากำลังวางแผนจะช่วงชิงพระราชบัลลังก์รวมถึงมีข่าวลือเรื่องการก่อการกบฏอยู่หลายครั้ง เมื่อพระนางบูเช็กเทียนทรงมีพระอาการดีขึ้น ซุยสวนเหว่ยได้เสนอแก่พระนางเพื่อให้มีเพียงเจ้าชายหลีเสี่ยนและเจ้าชายหลี่ตั้นได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าพระนางได้เท่านั้น หากแต่พระนางบูเช็กเทียนไม่ทรงเห็นด้วย ต่อจากนั้นมาก็ยังมีข้อกล่าวหาต่อพี่น้องจางโดยหวนหยานฟ่าน (อังกฤษ: Huan Yanfan; จีน: 桓彥範; พินอิน: Huán yàn fàn) และซ่งจิ่ง (อังกฤษ: Song Jing; จีน: 宋璟; พินอิน: Sòng jǐng) พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงอนุญาตให้ซ่งจิ่งทำการสอบสวนในเรื่องนี้ได้ แต่ไม่นานต่อจากนั้น ในระหว่างที่การสืบสวนยังไม่สำเร็จลง พระนางทรงมีรับสั่งให้อภัยโทษแก่จางอี้จรีอและยกเลิกการสอบสวนของซ่งจิ่งลงกลางคัน.โดยเริ่มจากการสังหารจางอี้จรีอและจางชางจง ต่อจากนั้นจึงนำกำลังเข้าล้อมพระตำหนักฉางเชิงเตี้ยน (อังกฤษ: Changsheng Hall; จีน: 長生殿; พินอิน: Chángshēng diàn) อันเป็นที่ประทับของพระนางบูเช็กเทียน และเพ็ดทูลแก่พระนางบูเช็กเทียนว่าพี่น้องตระกูลจางได้ก่อการกบฏ จึงเสนอให้พระนางมอบพระราชบัลลังก์แก่เจ้าชายหลี่เจ๋อ (หรือพระนามเดิมคือ หลี่เสี่ยน) ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จึงมีการประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าชายหลี่เจ๋อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระนาง และภายในวันต่อมาคือในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ได้มีพระบรมราชโองการอีกครั้งโดยมอบพระราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายหลี่เจ๋อในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 705 พระนางบูเช็กเทียนในวัย 82 พรรษาทรงพระประชวรหนักอีกครั้ง อัครมหาเสนาบดีจาง เจี่ยนจือและพวกจึงร่วมกันก่อรัฐประหารและวางแผนสังหารพี่น้องตระกูลจาง อันมี จางเจี่ยนจือ จิ้งฮุย (อังกฤษ: Jing Hui; จีน: 敬暉; พินอิน: Jìng huī) และ หยวนซู่จี่ (อังกฤษ: Yuan Shuji; จีน: 袁恕己; พินอิน: Yuánshùjǐ) อีกทั้งยังชักชวนให้นายพลหลี่ตัวจั้ว (อังกฤษ: Li Duozuo; จีน: 李多祚; พินอิน: Lǐ Duōzuò) หลี่จ้าน (อังกฤษ: Li Dan; จีน: 李湛; พินอิน: Lǐ zhàn; หมายเหตุ 李湛, ใช้ตัวอักษรต่างจากพระนามของเจ้าชายหลี่ต้านหรือสมเด็จพระจักรพรรดิถังรุ่ยจง) และ หยางหยวนหย่าน (อังกฤษ: Yang Yuanyan; จีน: 楊元琰; พินอิน: Yángyuányǎn) รวมถึงเสนาบดีอีกคนหนึ่งคือ เหยาฉง (อังกฤษ: Yao Yuanzhi; จีน: 姚崇; พินอิน: Yáo Chóng) เข้าร่วมด้วย และได้กระทำการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เจ้าชายหลี่เจ๋อจึงทรงขึ้นครองพระราชบัลลังก์ต่อ เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังจงจง ส่วนพระนางบูเช็กเทียนนั้นทรงถูกควบคุมตัวไปยังพระตำหนักรอง คือพระตำหนักซ่างหยางกง (อังกฤษ: Shangyang Palace; จีน: 上陽宮; พินอิน: Shàngyáng gōng) แต่พระนางก็ยังคงได้รับการยกย่องในฐานะ “Empress Regnant Zetian Dasheng (則天大聖皇帝)”ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม พระองค์ทรงรื้นฟื้นราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ และให้กลับมาใช้ชื่อราชวงศ์ถังดังเดิม ราชวงศ์โจวที่พระนางทรงก่อตั้งขึ้นมานาน 14 ปี จึงเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนพระนางบูเช็กเทียนทรงสิ้นพระชมน์ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 705
ในปี ค.ศ. 706 พระโอรสของพระนางบูเช็กเทียน คือสมเด็จพระจักรพรรดิ์ถังจงจง ทรงให้มีการฝังพระศพของพระนางร่วมกับพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ถังไท่จงไว้ในสุสานเฉียนหลิงซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงฉางอานในขณะนั้น ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลส่านซีทางภาคตะวันตกของประเทศจีน สุสานเฉียนหลิงจึงเป็นที่ฝังพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิ์สององค์เพียงแห่งเดียวในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานกว่า 2,000 ปี ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ์ในสองราชการและป็นคู่สามีภรรยากัน โดยมีการตั้งแท่นศิลาจารึกอยู่บริเวณหน้าสุสาน แท่นศิลาจารึกนี้เป็นหินก้อนเดียว สูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 2 เมตร มีการแกะสลักสวยงามประณีต แต่ไม่มีตัวอักษรใดบนจารึกนี้ นักประวัติศาตร์บางคนเห็นว่าเนื่องจากพระนางบูเช็กเทียนทรงโค่นล้มระบบอำนาจผู้ชายที่สืบทอดกันมาของจีน พระนางทรงรู้ว่าตนเองมีความผิดใหญ่มาก จึงมิกล้าแต่งข้อความสรรเสริญตนเอง บางคนเห็นว่าสาเหตุคือพระนางบูเช็กเทียนร่วมฝังกับพระศพของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ถังเกาจง จึงทรงไม่รู้จะใส่นามสกุลและชื่อราชวงค์ของตนอยู่หน้าหรือหลังนามสกุลของจักรพรรดิ์ถังเกาจงจึงจะเหมาะสม จึงใช้ศิลาจารึกที่ไม่มีตัวอักษรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ แต่ผู้คนนส่วนข้างมากเห็นว่า การที่พระนางบูเช็กเทียนตั้งศิลาจารึกที่ไม่มีตัวอักษรนั้นเป็นการกระทำที่ฉลาด เนื่องจากพระนางทรงรู้ว่าคนรุ่นหลังอาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานาต่พระนาง การแต่งประวัติบนศิลาจารึกไม่สามารถรวบรวมเรื่องราวอันหลากหลายชั่วชีวิตของตนได้ จึงตั้งศิลาจารึกที่ไม่มีตัวอักษร เพื่อให้คนรุ่นหลังวิจารณ์กันเองแทน